หมอมะเร็ง รพ.อุดรธานี ยันผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษามาตรฐานเดียวกับข้าราชการ แต่มักมาเมื่อป่วยมาก ต่างจากข้าราชการที่มาระยะเริ่มต้น ชี้ รักษาระยะแรกโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น ชี้ หากร่วมจ่ายควรเปิดช่องให้ผู้ป่วยมีทางเลือกที่เหมาะสมตามกำลังของผู้ป่วย
นพ.ณรงค์ ธาดาเดช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.อุดรธานี กล่าวว่า การรักษาและเข้าถึงยาของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองไม่ต่างจากสิทธิข้าราชการ เพราะใช้แนวทางการรักษาที่เหมือนกันตามโปรโตคอล แต่ก็มีข้อจำกัดเพียงกลุ่มยาจำเป็นบางประเภท หรือ ยามุ่งเป้า ที่เป็นยานอกบัญชียาหลัก ซึ่งก็มีไม่มาก และยาบางประเภทที่ข้าราชการเบิกได้ ซึ่งมีความแตกต่างกันน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือผู้ป่วยมะเร็งบัตรทองมักมารักษาระยะท้าย ๆ ซึ่งต่างจากสิทธิข้าราชการที่มารักษาตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งหากตรวจพบและรักษาระยะแรก ๆ โอกาสรอดชีวิตจะสูงขึ้น
“ประเด็นที่นักวิชาการพูดว่า ผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตสูงกว่าสิทธิข้าราชการ ผมไม่เชื่อ ต้องดูก่อนว่าคุณเอาตัวไหนมาเปรียบเทียบ ถ้าดูคนตาย แล้วข้าราชการมารักษาที่โรงพยาบาลของรัฐจำนวนกี่คน แล้วกลุ่มข้าราชการที่มารักษาอาการของโรคอยู่ในระยะไหน กลุ่มบัตรทองหากเทียบกันแล้วเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่ามากในระยะไหน ถ้าเป็นธรรมจริง ต้องเรียงเลยว่าอยู่ในระยะไหน ระดับความรุนแรงของโรคเท่า ๆ กัน จึงจะนำมาเปรียบเทียบได้” นพ.ณรงค์ กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การร่วมจ่ายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา สำหรับผู้ที่สามารถร่วมจ่ายได้ ยกตัวอย่าง เรามีสิทธิพื้นฐานมีมาตรฐานและปลอดภัยให้สำหรับทุกคน หากต้องการมากกว่าสิทธิพื้นฐานที่ได้รับก็สามารถร่วมจ่ายเพิ่มเติมได้ ดังนั้น คิดว่าควรจะให้มีร่วมจ่าย แต่ต้องร่วมจ่ายตามกำลังซื้อของผู้ป่วยที่เลือกได้ อย่างไรก็ตาม ต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่