xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนยันไม่ร่วมจ่ายอุ้ม”บัตรทอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป จากผู้ให้บริการ และผู้รับบริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประจำปี 2558 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การจัดประชุมฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ มีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 8,895 คน แบ่งเป็น ผู้ให้บริการ 38.8% ผู้รับบริการ 32.3% ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13.2% และผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง 15.7% โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 262 ข้อ แบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ 2. ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน 3. ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน 5. ด้านการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพฯพื้นที่ 6. ด้านประเภทและขอบเขตบริการ และ 7. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข

นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า การสรุปผลความคิดเห็นที่สำคัญ อาทิ ด้านการบริหารกองทุนฯ ที่เป็นข้อเสนอต่อบอร์ด สปสช. มี 3 ข้อ ได้แก่ 1. การร่วมจ่าย ผู้ให้บริการเสนอให้ร่วมจ่ายแบบมีเงื่อนไข โดยยกเว้นผู้ยากไร้ ขณะที่ผู้รับบริการเสนอไม่ร่วมจ่ายทุกกรณี 2. เงินเดือน ผู้ให้บริการให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ถ้ายังไม่แยกให้ตัดเงินเดือนระดับเขต ผู้รับบริการเห็นว่าให้รวมกับงบเหมาจ่ายรายหัวคงเดิม แต่ให้แยกบรรทัดให้เห็นชัดเจน หากเงินค่าหัวไม่เพียงพอ จะได้ขอเพิ่มและต้องการให้เกิดการกระจายบุคลากรตามจำนวนประชากรที่ต้องดูแลจริง และ 3. การจัดการกองทุน ผู้ให้บริการเสนอให้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเหลือเพียง 4 หมวด ได้แก่ ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมป้องกันโรคและบริการรวมต่างๆ จากเดิมมี 9 หมวด ส่วนผู้รับบริการเสนอให้คงรูปแบบเดิม

นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตเพื่อพิจารณา เช่น การเพิ่ม/ขยายสิทธิประโยชน์ มีข้อเสนอ ได้แก่ เพิ่มสิทธิการคลอดจากเดิมจำกัดเพียง 2 ครั้งเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง ด้านทันตกรรมให้การรักษารากฟัน รากฟันเทียม รากฟันแท้ในทุกกลุ่มวัย ขยายสิทธิการดูแลที่บ้านด้วยการสนับสนุนเวชภัณฑ์/ อุปกรณ์ให้พอเพียงในผู้ป่วยติดเตียงให้ครอบคลุมทุกสิทธิในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้พิการ เพิ่มสิทธิบริการแพทย์ทางเลือกที่ผ่านการรับรอง เช่น แพทย์แผนจีน เพิ่มสิทธิศัลยกรรมแผลเป็นจากอุบัติเหตุที่มีผลต่อสุขภาพจิต เช่น แผลเป็นจากไฟลวกที่ใบหน้า และเพิ่มสิทธิการรักษาโรคนอนกรนด้วยเครื่องแก้อาการนอนกรน(CPAP)

"ส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบายจะนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.เพื่อมอบหมายอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องไปทบทวนข้อเสนอและพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ส่วนข้อเสนอเชิงปฏิบัติ สปสช.นำผลการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงและพัฒนางาน และข้อเสนอที่เป็นบทบาทของหน่วยงานอื่น สปสช.ประสานแจ้งข้อเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น