xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยังไม่สรุป บริจาค-ร่วมจ่าย อุ้ม”บัตรทอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9 ก.ค.) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์ และภาคประชาชนคัดค้านแนวคิดให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค) ตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กองทุนมีความยั่งยืน ว่า การทำให้ระบบบัตรทองยั่งยืนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็พูดกว้างๆ ว่า น่าจะต้องมีแหล่งเงินอื่นเข้ามาช่วย เพราะงบประมาณจากรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ โดยอาจมาจากประชาชนผู้รับบริการเอง หรือผู้ที่อุทิศบางส่วนของเงินของเขาเองให้แก่ระบบ มีทั้งการเก็บในรูปแบบภาษี เช่นเดียวกับที่มีการระบุในใบเสียภาษีว่า ประสงค์จะบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ส่วนกี่บาท เท่าไร ก็ต้องไปคุย แต่เรื่องเพิ่มภาษียังไม่มี

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสสูงที่ต้องให้ประชาชนร่วมจ่าย เพื่อช่วยเหลือระบบบัตรทอง นายยงยุทธ กล่าวว่า หากจะมีการร่วมจ่ายจริง ต้องไม่ใช่การร่วมจ่ายที่จุดบริการสาธารณสุข หรือคนไข้ต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งให้โรงพยาบาลควบคู่ภาครัฐ แบบนี้ยุ่งแน่นอน ทำไม่ได้ หากจะทำอะไร น่าจะเป็นการร่วมประกันสุขภาพก่อนการเจ็บป่วยมากกว่า ซึ่งตรงนี้มีความเป็นไปได้

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการบริจาค หรือร่วมจ่าย ขณะนี้เป็นเพียงข้อเสนอกว้างๆ จากหลายภาคส่วน ต้องรอให้คณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นประธาน และ ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ได้ดำเนินการก่อน ซึ่งขณะนี่อยู่ระหว่างทำงาน

**รับมือโรคอุบัติใหม่ต้องทำงานเป็นระบบ

นายยงยุทธ ยุทธวงค์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องการดำเนินการควบคุมโรคอุบัติใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะถึงแม้ขณะนี้ไทยจะไม่พบโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์สแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องดำเนินการต่อ เพราะโรคเมอร์ส มีโอกาสกลับมาอีก เนื่องจากมีการเดินทางมาจากที่ยังมีการระบาดตลอด จึงต้องดำเนินการควบคุมต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นเรื่องการเพิ่มห้องแยกโรคความดันลบ การเพิ่มบุคลากร การเพิ่มค่าใช้จ่าย และการเพิ่มค่าชดเชยกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ให้การรักษาแล้วติดโรค ซึ่งเรื่องนี้ต้อมีการหารือกันให้เป็นระบบต่อไป

"การดำเนินการเรื่องโรคอุบัติใหม่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นว่า ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวทางที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์ และเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เพราะโรคระบาดส่วนใหญ่มาจากสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องร่วมมือกัน" รองนายกฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น