ประเด็นการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชนกำลังจะกลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เร็ว ๆ นี้ เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นในสมัย รมต.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ซึ่งได้มีจุดยืนแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทาง บัดนี้ข้อเสนอเสร็จแล้ว แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ความจริงจังของ รมต.ใหม่ดูจะยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังมีความสับสนหรือความไม่เข้าใจต่อระบบราคาค่ารักษาพยาบาลของการแพทย์เอกชนที่น่าจะมีการทำความเข้าใจ อย่างน้อย 4 ประการ
ประการที่ 1 : โรงพยาบาลเอกชนเขากู้เงินมาสร้างตึกและจ้างแพทย์พยาบาลพนักงานด้วยรายได้ตนเอง จึงมีสิทธิเต็มที่ในการคิดค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้มีกำไร
ธุรกิจที่เป็นสินค้าสาธารณะ หรือ public goods เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า ประปา ค่าโดยสาร ไปรษณีย์ โทรศัพท์ ประกันชีวิต ค่าทางด่วน รวมถึงค่ารักษาพยาบาล สินค้าสาธารณะเหล่านี้ต้องมีการควบคุมราคาให้เหมาะสมที่จะไม่เอาเปรียบผู้บริโภค จะพึ่งกลไกตลาดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากมีการร่วมมือกันโก่งราคา หรือเก็บแพงเพื่อเอากำไรตามใจนายทุน ประชาชนก็จะเดือดร้อน เพราะเป็นสินค้าจำเป็นยิ่งยวดที่แทบทุกคนต้องพึ่งพา ไม่เหมือนชาเขียวที่จะไม่ดื่มก็ได้ ดังนั้นการควบคุมค่ารักษาพยาบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่งแม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่กู้เงินมาลงทุนเองก็ตาม
ประการที่ 2 : ก็รู้ ๆ อยู่แล้วว่าโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพง เมื่อไม่รวยจริงแล้วเดินเข้าไปใช้บริการทำไม
การเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนไม่เหมือนกับการใช้บริการโรงแรม หรือรีสอร์ต เพราะการเข้าพักในโรงแรม แม้จะหรูเพียงใด เราสามารถคำนวณราคาค่าห้องที่จ่ายได้ล่วงหน้า แต่การรักษาพยาบาลนั้นต่างกัน เข้าไปด้วยปวดท้อง นึกว่าเป็นโรคกระเพาะ ซึ่งคาดว่าค่ารักษาไม่เกินสามพัน ปรากฏว่าหมอบอกว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ต้องผ่าตัดทันทีเพราะใกล้แตกแล้ว การจะย้ายโรงพยาบาลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงตัดสินใจผ่าตัดที่ประมาณการค่ารักษาหกหมื่นบาท แต่เกิดโชคร้ายหลังผ่าตัดแผลเกิดติดเชื้อ ต้องนอนโรงพยาบาลอีกสองสัปดาห์ สุดท้ายหมดค่ารักษาพยาบาลไปเป็นแสน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า ความเจ็บป่วยนั้นบางครั้งยากที่จะประมาณการค่าใช้จ่าย เฉกเช่น ไปพักรีสอร์ตได้ บางครั้งคนที่รวยพอประมาณ เข้าไปแล้วก็กลับออกมาแบบหมดเงินเก็บออมได้ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรม
ประการที่ 3 : โรงพยาบาลเอกชนช่วยลดความแออัดให้กับโรงพยาบาลของรัฐ รัฐจึงควรสนับสนุนให้มาก ๆ ให้เสรีกับเขาในการทำธุรกิจ ไม่ใช่ไปควบคุมเขา
โรงพยาบาลของรัฐนั้นแออัดมาก ๆ นั้น เป็นความจริง แต่การเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดภาวะสมองไหล ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร กายภาพบำบัด หรือแม้กระทั่งผู้ช่วยพยาบาล ทั้งนี้ เพราะแรงจูงใจด้านเงินเดือนที่สูงกว่าหลายเท่า ซึ่งเท่ากับเป็นการจ้างที่ไม่ต้องลดทุนในการผลิต มารอตกเขียวเอาคนเก่งคนมีประสบการณ์แล้วไปทำงาน เมื่อสมองไหลผลก็ทำให้โรงพยาบาลของรัฐมีบุคลากรลดลง ต้องทำงานหนักขึ้น ยิ้มไม่ออกหน้าแห้งจิตบริการจึงไม่ดี แม้ว่าจะมีบุคลากรจบใหม่มาบรรจุทุกปี แต่ความแออัดจึงยังดูเหมือนจะอยู่คู่กับโรงพยาบาลรัฐตลอดไป
ประการที่ 4 : โรงพยาบาลเอกชนควรระดมทุนในตลาดหุ้นได้ เพื่อช่วยให้ผู้ถือหุ้นมีรายได้และเจ้าของ รพ. ก็ระดมทุนในการพัฒนา รพ. ง่าย ต้นทุนต่ำลง และราคาค่าบริการจะได้ลดลง
การรักษาพยาบาลไม่ควรเป็นสินค้าที่หากำไรบนความเจ็บป่วยของผู้คน นี่คือ ปรัชญาและจริยธรรมพื้นฐานทางการแพทย์ หากจะมีกำไรบ้างก็พออนุโลมได้ หากกำไรนั้นเป็นไปเพื่อการนำกำไรกลับมาพัฒนาโรงพยาบาลหรือตอบแทนการทำงานหนักของพนักงาน โดยที่ไม่ใช่เอาไปกำไรไปปันกันในหมู่ผู้ถือหุ้น ดังนั้น การอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงขัดแย้งกับจริยธรรมพื้นฐาน และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ราคาค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงเกินจริงนั้น เป็นโจทย์ใหญ่ที่รอการปฏิรูปที่สำคัญ การควบคุมราคาค่ารักษานั้นก็ทำได้ไม่ง่ายเหมือนควบคุมราคาน้ำมันขายปลีกหน้าหัวจ่าย โจทย์นี้จึงท้าทาย รมต.ปิยะสกล สกลสัตยาธร เป็นอย่างยิ่งว่าดองเค็มข้อเสนอ หรือเดินหน้าสู่การควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลโรพยาบาลเอกชน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่