เครือข่ายผู้เสียหายเตรียมยื่นรายชื่อหนุนตั้ง “คกก. คุมราคา รพ.เอกชน” ต่อ รมว.สธ.- กมธ. ผู้บริโภคและสาธารณสุข สปช. 12 พ.ค. นี้ แก้ปัญหาโขกค่ารักษาไม่เป็นธรรม ด้าน สบส.เตรียมเอกสาร ข้อมูลหารือ ก.พาณิชย์แก้ปัญหาค่ายามาตรฐานกลาง ขณะที่แพทยสภาเสนอแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ คุมค่ารักษา รพ.เอกชน
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่าบริการสถานพยาบาลเอกชนแล้วกว่า 33,000 รายชื่อ จึงขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมลงชื่อแสดงพลัง โดยวันที่ 12 พ.ค. นี้ จะยื่นรายชื่อทั้งหมดต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 12.00 น. ยื่นต่อ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เวลา 15.00 น. และ รศ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สปช. เพื่อผลักดันให้ตั้งกรรมการดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มาตรา 294 (4) ระบุให้มีการพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับ ควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อผู้รับบริการ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้อย่างนี้ต่อไปนี้จะมีความไม่เป็นธรรมไม่ได้แล้ว
นางปรียนันท์ กล่าวว่า การมีคณะกรรมการดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนที่เกิดข้อสงสัยในค่ารักษาพยาบาลสามารถนำใบเสร็จไปให้คณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนด้วยนั้น ช่วยตรวจสอบได้ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ นอกจากนี้ อยากให้รัฐเพิ่มงบประมาณเพื่อปรับปรุงมาตรฐานโรงพยาบาลรัฐให้เทียบเคียงกับ รพ.เอกชนด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชน ลดราคา คือคิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครพูดถึงว่าจะจัดการกับการโกงอย่างไร มีแต่ท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่แนวทางการหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ ขอขอบคุณรัฐบาล และ รมว.สาธารณสุข ที่รับรู้ปัญหาของประชาชนและสั่งให้มีการแก้ไขปัญหา ทำให้ประชาชนมีความหวัง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดเพียงสถานพยาบาลเอกชนต้องแจ้งอัตราค่ารักษาพยาบาลต่อผู้มารับบริการ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นค่าห้อง ค่ารักษา ค่ายา ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือก หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนเรื่องการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะค่ายาให้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อไม่ให้ค่ายาสูงเกินความเป็นจริง จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเอกสาร และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อร่วมหารือ แต่ขณะนี้ยังรอหนังสือสั่งการจาก รมว.สาธารณสุขก่อนจึงสามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สบส. มีช่องทางในการร้องเรียนกรณีรับบริการเอกชนและไม่ได้รับความเป็นธรรมที่คอลเซ็นเตอร์ สบส. 0-2193-7999
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาจะดูแลในส่วนของค่าธรรมเนียมแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกเป็นคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์มาตั้งแต่ปี 2549 และในปี 2558 ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย จากการรักษา หัตถการใหม่ๆ และมีแพทย์สาขาเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น ส่วนการควบคุมค่าใช้จ่ายสถานพยาบาลเอกชน มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ อย่าง สบส. ซึ่งมีสำนักสถานพยาบาลฯ ทำหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ควรมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นในการกำกับดูแลเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายหมวดต่างๆ อย่างเป็นธรรม โดยอาจต้องปรับปรุง พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทก็จะช่วยให้ทำงานได้กว้างขึ้น สามารถประสานได้ทุกหน่วยงาน เกิดการทำงานอย่างบูรณาการจริงๆ นอกจากนี้ ในส่วนของสำนักสถานพยาบาลฯ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญอาจต้องมีการพัฒนาและเพิ่มบุคลากรในการตรวจพื้นที่ ทำงานด้านนี้เพื่อขยายงานมากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่