xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ปรับ “กราฟเติบโต” เด็กไทยใหม่ พบเด็กอ้วนเตี้ยมากขึ้น แนะกินนมแม่ 6 เดือนแรกสะสมต้นทุนความสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เปลี่ยนกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตเด็กไทยใหม่ ตามแนวทางองค์การอนามัยโลก เน้น 0 - 2 ขวบ ช่วยได้ข้อมูลละเอียดขึ้น พบเด็กไทยเตี้ย อ้วน เพิ่มขึ้น ชี้เพิ่มความสูงเด็กไทยต้องเพิ่มตั้งแต่ 6 เดือนแรกด้วยนมแม่อย่างเดียว ช่วยสะสมต้นทุนความสูงดีกว่าช่วงวัยอื่น

วันนี้ (25 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมีอายุยืนยาว คือ ต้องมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่วัยเด็กโดยเฉพาะเรื่องโภชนาการ เนื่องจากส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญา สธ. โดยกรมอนามัยจึงได้มีการปรับกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 0 - 5 ขวบใหม่ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวใน 125 ประเทศ ส่วนประเทศไทยจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป โดยมีดัชนีบ่งชี้ 3 ด้านคือ น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และน้ำหนักตามเกณฑ์ชองส่วนสูง

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไทยใช้กราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตตั้งแต่ปี 2519 และมีการปรับเปลี่ยนกราฟมาตรฐานครั้งแรกในปี 2538 และใช้เรื่อยมาจนถึง 2558 การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งที่ 2 โดยกราฟใหม่จะมีความละเอียดมากขึ้น เพราะเน้นให้เห็นชัดในช่วง 0 - 2 ปีมากขึ้น ทำให้เห็นภาพของการเจริญเติบโตที่ละเอียดขึ้น ซึ่งหลังจากใช้กราฟใหม่ข้อมูลจะเปลี่ยนไป โดยพบว่า เด็กไทยเตี้ยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.4 เป็น ร้อยละ 10.5 และ เด็กอ้วนเพิ่มจาก ร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8.7 ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าจะต้องพัฒนาเด็กในส่วนใด สำหรับการพัฒนาส่วนสูงต้องเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ 6 เดือนแรก เพราะความยาวของเด็กจะเพิ่มร้อยละ 50 อย่างเด็กแรกเกิดเกณฑ์มาตรฐานหลังคลอดจะอยู่ที่ 40 - 50 เซนติเมตร ถ้าเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวก็จะทำให้ความยาวมาตรฐานของเด็กได้ประมาณ 75 เซนติเมตร หากไม่ได้ถือว่าเด็กจะขาดทุนอย่างมาก เพราะหลังจากนี้เด็กจะค่อย ๆ ยืดตัวอย่างช้า และแม้ช่วง 3 ขวบปีแรกจะยังกระตุ้นให้มีความสูงได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่าผู้ปกครองจะเลี้ยงลูกด้วยวิธีการเดิม ๆ พฤติกรรมเดิม ทำให้การกระตุ้นความสูงในช่วงหลังอาจจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์

ที่ผ่านมา คนไทยเลี้ยงลูกแบบผิด ๆ เน้นการให้แคลอรี น้ำตาล มากกว่าการให้แคลเซียม ซึ่งสามารถปรับได้ด้วยโภชนาการที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย โดนแดดบ้าง จะช่วยกระตุ้นให้ความสูงของเด็กเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้” นพ.พรเทพ กล่าวและว่า สำหรับกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตแบบใหม่นั้น องค์การอนามัยโลก ได้ทำการวิจัยใน 5 ทวีป 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล กานา อินเดีย นอร์เวย์ โอมาน และสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง โภชนาการ สิ่งแวดล้อม เพื่อเก็บข้อมูล โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการเจริญเติบโตนั้นใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่าถ้าเด็กได้รับอาหารตามหลักโภชนาการและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีก็จะมีการเจริญเติบโตไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ อัตราค่าเฉลี่ยความสูงในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 170 - 175 เซนติเมตร ซึ่งการทำให้เด็กมีความสูงจะสัมพันธ์กับสติปัญญาด้วย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญอีกประการในการดูแลพัฒนาการเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์ คือ การเพิ่มระดับสติปัญญาของเด็กไทย ซึ่งปัจจุบันพบว่า เด็กที่อยู่ในพื้นที่เมืองและชนบท ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องกระบวนการดูแลเด็ก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูจากครอบครัว ทำให้เด็กในชนบทยังมีสติปัญญาที่น้อยกว่า จึงจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในส่วนของครอบครัว ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น