xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลุยสร้างทีม “Child ProjectManager” ดูแลพัฒนาการเด็ก เกือบปีพบโตสมวัยมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ลุยสร้างทีม “Child Project Manager” ดูแลพัฒนาการเด็ก อายุ 0 - 5 ขวบ ทั้งระดับจังหวัดและเขตสุขภาพพบเกือบปีคัดกรองได้กว่า 70% เด็กพัฒนาการสมวัยมากขึ้นถึง 90% เด็กไม่สมวัยได้รับการกระตุ้น 10%

วันนี้ (23 พ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เพิ่มพูนทักษะทีม Child Project Manager ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ว่า การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเด็ก 0 - 5 ปี จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพทั้งในด้านโภชนาการและการเจริญเติบโต พัฒนาการ ทันตสุขภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการนั้น ในปี 2558 ที่ผ่านมา สธ. ได้มีการพัฒนาศักยภาพ Child Project Manager ระดับอำเภอ และ ระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการการดำเนินงานส่งเสริมและแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็ก 0 - 5 ปี ในภาพรวมในแต่ละอำเภอและจังหวัดได้ โดยพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ให้สามารถค้นหาเด็กที่สงสัย หรือมีพัฒนาการล่าช้าได้ และดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องมือ Developmental Surveillance and Promotion Manual (DSPM) และ Developmental Assessment For Intervention Manual (DAIM) ดังนั้น ปี 2558 - 2559 สธ. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (0 - 5 ปี) ให้ทั่วถึงทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เพื่อให้เป็นผู้มีความรอบรู้เกี่ยวกับระบบการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการดำเนินงานคัดกรองพัฒนาการเด็กในภาพรวมระดับประเทศ ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 ถึง 31 มกราคม 2559 พบว่า เด็กที่ได้รับการคัดกรองพัฒนาการร้อยละ 71.96 หรือ 897,432 คน จากเป้าหมายที่ตั้ง 1,247,060 คน พบเด็กที่มีพัฒนาการที่สมวัยร้อยละ 90.84 เด็กที่สงสัยล่าช้าร้อยละ 9.19 เด็กสงสัยล่าช้าที่ได้รับการติดตามร้อยละ 76.37 เด็กที่สมวัยหลังได้รับการกระตุ้นร้อยละ 88.62 เด็กที่ไม่สมวัยหลังได้รับการกระตุ้นร้อยละ 10.28 เด็กที่ขาดการติดตาม/ติดตามไม่ได้ร้อยละ 13.55 และอยู่ระหว่างติดตามร้อยละ 9.94 โดยกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตจะนำผลการดำเนินงานดังกล่าวไปติดตามประเมินผลเชิงคุณภาพในด้านความครอบคลุม ด้านคุณภาพผู้ประเมินและด้านการส่งต่อรักษาต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น