xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยตั้งเป้าลดอัตราตายแม่และเด็ก รุกแก้ปัญหาขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยจัดงานครบรอบ 64 ปี ประกาศเน้นส่งเสริมสุขภาพ 3 กลุ่มวัย “สตรีมีครรภ์ - เด็กปฐมวัย” ลดอัตราตาย มีพัฒนาการสมวัย “เด็กวัยเรียน” ลดอ้วน ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และ “ผู้สูงอายุ - คนพิการ” มีระบบการดูแลระยะยาว พร้อมรุกงานอนามัยสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการขยะ

วันนี้ (11 มี.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดงานวันสถาปนากรมอนามัยครบรอบ 64 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มี.ค. ของทุกปี ว่า กรมฯ จะมุ่งดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายภาพรวมในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย เน้นที่ 3 กลุ่มวัย คือ 1. สตรีตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย โดยกำหนดเป้าหมายให้อัตราส่วนการตายของมารดา ไม่เกิน 15 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน และร้อยละของเด็กอายุ 0 - 5 ปี มีพัฒนาการสมวัย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และเน้นให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับพัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐานสากล มีการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพแม่และเด็ก หากตรวจพบความเสี่ยงให้มีการดูแลช่วยเหลือเป็นรายบุคคล 2. กลุ่มวัยเรียน เน้นให้มีการลดเรียนเพิ่มรู้ และวางเป้าหมายลดเด็กนักเรียนที่มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ไม่เกินร้อยละ 10 ตามนโยบายรัฐบาล “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการเสริมสร้างความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองของนักเรียนและสมาชิกของครอบครัว ภายใต้กระบวนการใหม่ ๆ ที่ให้เด็กได้ใช้ความคิด การปฏิบัติจริง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

นพ.วชิระ กล่าวว่า และ 3. กลุ่มวัยสูงอายุและคนพิการ จะเน้นตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ให้ผ่านเกณฑ์การดำเนินงานคือ มีระบบการประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพ และมีข้อมูลผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือระยะยาว มีชมรมผู้สูงอายุผ่านเกณฑ์ชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ มีผู้จัดการการดูผู้สูงอายุ (Care manager) ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) หรืออาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ มีบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้านที่มีคุณภาพ (Home Health Care) จากสถานบริการสู่ชุมชนโดยบุคลากรสาธารณสุขและทีมสหวิชาชีพ มีบริการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพในระดับตำบล และมีระบบการดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง โดยท้องถิ่น ชุมชน มีส่วนร่วม และมีแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care plan)

“สำหรับด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่กำหนดให้ร้อยละ 100 ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อตามมาตรฐานการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่ถูกวิธี และได้มาตรฐานตามกฎหมาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดจากโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ มีวิธีการกำจัดที่หลากหลาย อาทิ กำจัดเองในโรงพยาบาล ส่งหน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานอื่นกำจัด หากไม่ได้รับการจัดการและดำเนินการอย่างถูกวิธี จะส่งผลกระทบที่จะก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่ชุมชน บุคคล และสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมได้” นพ.วชิระ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น