กรมอนามัยเร่งเดินหน้าโภชนาการสมวัย 4 เรื่อง คาด 10 ปีลดภาวะเด็กอ้วนเหลือไม่เกิน 10% เตี้ยเหลือไม่เกิน 5% ความสูงเฉลี่ยได้ตามเกณฑ์ ไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 จุด
วันนี้ (1 ก.พ.) นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในปี 2559 กรมอนามัยและเครือข่ายโภชนาการสมวัยได้ร่วมกันพัฒนาจังหวัดต้นแบบการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ โดยจะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ 4 เรื่อง คือ 1. นำนโยบายเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนตามงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจาก 13 บาท เป็น 20 บาท สู่การปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับวัตถุดิบอาหาร โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 2. บรรจุนักโภชนาการประจำตำบล โดยใช้งบประมาณท้องถิ่น 3. ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนมีการจัดบริการอาหารในรูปแบบครัวกลาง 1 ตำบล 1 ครัวกลาง เน้นการใช้วัตถุดิบอาหารและผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัยในชุมชน เพื่อควบคุมคุณภาพ ณ จุดเดียว ลดต้นทุนและสร้างเศรษฐกิจชุมชน และ 4. มีระบบควบคุม กำกับ ติดตาม ประเมินผลการจัดการคุณภาพอาหาร โดยระดับพื้นที่ ได้แก่ ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน ทำการประเมินตนเองปีละ 2 ครั้ง ระดับจังหวัด/เขต และมีการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียนต่อเนื่อง โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการแก้ไขปัญหาโดยมีการติดตามเดือนละครั้ง
“ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว ถ้าสามารถขยายผลได้ทั่วประเทศ นอกจากจะส่งผลให้เด็กไทยประมาณ 6 ล้านคน ได้กินอิ่มอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังคาดหวังว่าภายในระยะ 10 ปี จะสามารถลดภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กวัยเรียนเหลือไม่เกินร้อยละ 10 หรือลดลงอย่างน้อย 0.5 ต่อปีเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดิม ภาวะเตี้ย ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 และส่งเสริมให้เด็กไทยเพศหญิงและเพศชาย มีความสูงเฉลี่ย 165 และ 175 เซนติเมตรตามลำดับ มีไอคิวเฉลี่ย มากกว่า 100 จุด” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่