กรมอนามัยเล็งตั้งคณะทำงาน กสทช. ศึกษาข้อจำกัดด้าน กม. ก่อนออกระเบียบคุมโฆษณาชิงโชคสินค้าอันตรายต่อสุขภาพ “ขนม - น้ำอัดลม - ชาเขียว” แฉแค่ปีเดียว “ชาเขียว” อัดแคมเปญลุ้นของรางวัลกระตุ้นคนไทยติดหวาน 2 - 3 รอบ แนะต้องคุม 2 เรื่อง ทั้งลดเวลาโฆษณา - ออกระเบียบควบคุมการชิงโชค
ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีกรมฯ เตรียมทำหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้มีส่วนควบคุมการโฆษณาของน้ำอัดลม ชาเขียวที่มีลักษณะของการชิงโชค เนื่องจากเป็นการกระตุ้นการบริโภคหวานของคนไทย ว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถช่วยลดการบริโภคหวานของคนไทยได้ ซึ่งจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมที่มาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วย เพื่อศึกษาข้อจำกัดของการดำเนินงานควบคุมโฆษณาที่มีลักษณะชิงโชคกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว เป็นต้น ซึ่งการบริโภคมาก ๆ จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินไป จนก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย
“ขณะนี้พบการโฆษณาชิงโชคกระตุ้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก อย่างเครื่องดื่มชาเขียวนั้น ปีนี้ก็พบว่ามีการออกแคมเปญลักษณะดังกล่าวประมาณ 2 - 3 รอบแล้ว อย่างไรก็ตาม การจะควบคุมการโฆษณาชิงโชคของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ คงต้องมาศึกษาก่อนว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ติดขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาของ อย. เป็นต้น หรือจะมีช่องทางใดที่พอจะขับเคลื่อนได้บ้าง จากนั้นจะร่างเป็นกฎหมายเพื่อเสนอต่อสภาต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทพ.สุธา กล่าวว่า การควบคุมโฆษณาลักษณะชิงโชคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถทำได้ใน 2 ประเด็น คือ 1. การลดเวลาโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลง ซึ่งเป็นอำนาจของ กสทช. โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการเสนอเป็นกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อลดเวลาการโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลงจากโฆษณาได้ 12 นาที ภายใน 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 6 นาที ใน 1 ชั่วโมง แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา และ 2. การควบคุมการชิงโชค ซึ่งเป็นการตลาดเพื่อให้ประชาชนซื้อมากขึ้น ตรงนี้เป็นอำนาจของ สคบ. โดยขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในการควบคุมการชิงโชค ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่มีการออกกฎหมายในการควบคุมตรงนี้ โดยกรมฯ จะประสาน สคบ. ในการขับเคลื่อนเพื่อออกกฎระเบียบ กฎหมาย หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการชิงโชคต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่