“บิ๊กต๊อก” หารือร่วม “หมอปิยะสกล” เดินหน้าผ่องถ่าย “ผู้เสพยา” เป็นผู้ป่วย คาด ใช้เวลาเซตระบบ 3 - 5 ปี ให้ รพ.สต. กว่า 10,000 แห่ง ร่วมกับ อปท. ดูแล ด้าน สธ. เล็งของบประมาณ 600 ล้านบาท บริหารจัดการ 5 ปี พร้อมเพิ่มอัตรากำลังดูแล
วันนี้ (6 ธ.ค.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อประชุมความร่วมมือระหว่าง สธ. กับ ยธ. เรื่องการดำเนินงานยาเสพติด ในการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ครั้งที่ 12/2559 ประจำเดือน ธ.ค. โดย พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ทิศทางในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ขณะนี้จะมุ่งเน้นการบำบัดรักษาผู้เสพยา โดยมี สธ. เป็นหลักในการดูแล เพราะตามหลักแล้วคนเสพยา ถือเป็นผู้ป่วยระบบสมองที่ต้องได้รับการบำบัดโดยแพทย์ เบื้องต้นอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 5 ปี ในการเซตระบบ และถ่ายโอนผู้เสพยาให้ สธ. แต่ระหว่างนี้ สธ. ก็รับทราบและดำเนินการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นกฎหมายเดี่ยว มีหลายตัวหลายหน่วยงานดูแล ดังนั้น ต้องเอาทั้งหมดมารวมกันแล้วดูว่าจะปรับอย่างไรเพื่อให้แพทย์สามารถใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดได้ เพราะกฎหมายปัจจุบันไม่สามารถทำได้เลย แต่เรื่องนี้ค่อนข้างยากต้องคุยกันเยอะ ต้องค่อยๆ ไป
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่ผ่านมา เน้นเรื่องการปราบปรามมากกว่าการป้องกัน ทำให้คนล้นคุก ล้นโรงพยาบาล หากไม่ทำอะไรเลยอาจจะต้องมีการสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม แต่สร้างเท่าไรก็ไม่พอ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับมาตรการ ซึ่งวันนี้ก็มีความคิดเห็นที่ตรงกันแล้วว่าผู้ติดยานั้น คือ ผู้ป่วยไม่ใช่ผู้ร้าย จึงต้องนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาเพื่อลดจำนวนผู้เสพลง ซึ่งมีทั้งรูปแบบการเข้ารับบำบัดแบบสมัครใจ และบังคับบำบัด โดยผ่องถ่ายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีกว่า 10,000 แห่ง ให้ดูแลเรื่องนี้ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สธ. เองก็ต้องเตรียมเรื่องการเพิ่มอัตรากำลังเบื้องต้นในระยะแรกจะขอดูที่ปริมาณงานก่อนว่ามากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ สธ. ยังทำหน้าที่ในการออกแนวปฏิบัติในการบำบัดผู้ติดยาเพื่อให้กรมราชทัณฑ์ใช้เป็นแนวทางอีกด้วย
นายนิยม เติมศรีสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า ในการเปลี่ยนผู้เสพยาเสพติดให้เป็นผู้ป่วยที่จะมีการปรับระบบการบำบัด รักษาและฟื้นฟูทั้งระบบนั้น สธ. ได้ของบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท แต่เป็นการจัดการงบในระยะ 5 ปี ซึ่งงบจะมาจาก 3 ส่วน คือ 1. งบที่ไม่เร่งด่วน จะมีการนำงบที่ ป.ป.ส. มีอยู่มาปรับใช้ในเรื่องนี้ 2. งบของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และ 3. หากงบทั้ง 2 ส่วนไม่พอก็อาจขอเพิ่มจากงบกลางของรัฐบาล และในเชิงหลักการรัฐบาลก็เห็นด้วยและให้เดินตามนี้ โดย รมว.ยุติธรรม ได้มอบเป็นนโยบาย พร้อมระบุว่า การปรับระบบต้องใช้เวลา 3 - 5 ปี และขณะนี้ได้เริ่มจัดสรรงบบางส่วนลงมาบ้างแล้ว
“รัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่ม และมีการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติจริง โดยความคืบหน้าล่าสุด สธ. ได้มีการวางแนวทางการกำหนดมาตรฐานการบำบัดใน 3 ระบบ คือ สมัครใจ บังคับ และต้องโทษ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็จะยึดแนวกระบวนการเดียวกันทั้ง 3 ระบบ นอกจากนี้ ยังมองไปถึงเรื่องการจัดการคุณภาพ และการเตรียมบุคลากรที่จะมาดูแลผู้เสพ ที่ขณะนี้มีการเตรียมไว้แล้วบางส่วน และคาดว่า จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2560 หรือไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของปี 2560” นายนิยม กล่าว