ผู้จัดการรายวัน360-"บิ๊กต๊อก"เผยดีเอสไอรออัยการสั่งคดี ก่อนจับกุม "พระธัมมชโย" หลังล่าสุดเจอออกหมายจับแล้ว 3 หมาย ด้าน "ศรีวราห์" ยังเชื่ออยู่ในวัด 80% เหตุไม่มีข้อมูลเผ่นนอก ย้ำตำรวจต้องมั่นใจก่อนถึงจะบุกจับ ไม่หวั่นลูกศิษย์ขัดขวาง ด้านโฆษกอัยการ ระบุดีเอสไอส่งสำนวนฟ้องหลวงพี่แป๊ะ กับพวก 7 คน คดี "สมเด็จช่วง" ครอบครองรถเบนซ์หรูถึงมืออัยการแล้ว ล่าสุดอัยการคดีพิเศษตั้งคณะทำงานพิจารณาสั่งฟ้อง 25 พ.ย.นี้
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการกับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธรรมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังจากถูกออกหมายจับแล้ว 3 หมายจับว่า ต้องดูว่าหมายจับออกโดยหน่วยงานใด ก็ต้องไปถามหน่วยงานนั้น ซึ่งมีทั้งออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยในส่วนของตำรวจก็ต้องไปถามทางตำรวจ แต่ทางดีเอสไอ ก็มีความชัดเจนแล้วว่าคดีอยู่ระหว่างการรอการพิจารณาของอัยการ ก็ต้องไปถามอัยการ
ส่วนการจับกุมตัวพระธรรมชโย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ บอกแล้วว่าต้องรออัยการว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าต้องสั่งฟ้องหรือไม่ เพราะขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ต้องผ่านอัยการ และต้องรอดูว่าอัยการจะเห็นด้วยหรือไม่
“ตอนนี้ดีเอสไอยังมีหมายจับอยู่แล้ว ยังใช้ได้อยู่ แต่ถ้าจับมาแล้ว อัยการไม่สั่งฟ้อง มันจะเสียเวลา ดีเอสไอให้เหตุผลกับผมอย่างนี้ และผมเห็นว่ามีเหตุมีผล เพราะมันไม่ได้จบที่พนักงานสอบสวนว่าเห็นควรจะต้องสั่งฟ้อง เพราะมันต้องผ่านอัยการ ถ้าอัยการเห็นสั่งฟ้อง ส่งศาล การจับตามหมายจับที่ออกมาแล้ว พร้อมกับอัยการออกหมาย มันจะทำให้ทำงานครั้งเดียว ซึ่งดีเอสไอเขาคิดอย่างนี้ ก็ต้องรอกัน” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หมายจับของพระธัมมชโยทั้ง 3 หมายจับ ได้แก่ 1.หมายจับของศาลอาญาข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร จากกรณีพนักงานสอบสวนดีเอสไอพบหลักฐานการรับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาและอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นหมายจับของดีเอสไอ 2.ศาลจังหวัดเลยอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย กรณีร่วมกันบุกรุกป่า ก่อสร้างสวนป่าหิมวันต์ ภูเรือ จ.เลย เป็นหมายจับของตำรวจ และ 3.หมายจับของศาลจังหวัดสีคิ้ว กรณีบุกรุกพื้นที่ป่า ในการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิลด์พีซวัลเล่ย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เป็นหมายจับของตำรวจ
วันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) มีข้อมูลว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในประเทศ ยังไม่ได้ออกไปไหน และจากการตรวจสอบกับพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รรท.ผบก.ส.4 และสภ.คลองหลวง เชื่อว่า 80% พระธัมมชโยยังอยู่ในวัด แต่อีก 20% ไม่ยืนยันว่าอยู่หรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีงานสำคัญทางพระพุทธศาสนา 2 ครั้ง ก็ไม่มีใครเห็นท่านออกมาปรากฎตัว
ส่วนหมายจับ ทางตำรวจได้ส่งไปยังพระธัมมชโยแล้ว พร้อมกับหนังสือนมัสการขอให้มามอบตัวกับตำรวจเพื่อที่จะดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ก็ไม่ทราบว่าพระธัมมชโยได้รับหมายจับแล้วหรือยัง และไม่สามารถตอบได้ว่าพระธัมมชโยจะเข้ามามอบตัวหรือไม่ แต่ทางตำรวจไม่มีการประวิงเวลา เพราะได้ออกหมายจับแล้ว โดยทางตำรวจต้องมั่นใจก่อนที่จะดำเนินการ แต่หากจะนำกำลังเข้าจับกุมเลย ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ถ้าพบเห็นก็จะจับกุมทันที ส่วนกรณีกลุ่มศิษยานุศิษย์จะขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทางตำรวจไม่หนักใจ ถ้ามีการขัดขวาง ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย
ด้านเรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักอัยการสูงสุด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 12/2559 พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายพิชัย วีระสิทธิกุล เจ้าของอู่รถยนต์ ที่ 1 , หจก. ซี.ที.ออโต้พาร์ท โดยนายวสุ จิตติพัฒนกุลชัย ที่ 2, นายวสุ จิตติพัฒนกุลชัย ที่ 3, นายเกษม หรืออ๊อด ภวังคนันท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส ( ประเทศไทย) ซึ่งนำเข้าชิ้นส่วนรถโบราณ ที่ 4, นายเมธีนันท์ หรือชลัส นิติฐิติวงษ์ ผู้ดำเนินการนำเอกสารชุดประกอบรถยนต์ไปชำระภาษีสรรพสามิต ที่ 5, นายสมนึก บุญประไพ ผู้นำเอกสารรถยนต์ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก ที่ 6 และพระมหาศาสนมุนี (ธนกิจ ศรีอุ่นเรือน) หรือหลวงพี่แป๊ะ ผู้สั่งซื้อรถยนต์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดปากน้ำ ในฐานะ เลขานุการฯสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ที่ 7 เป็นผู้ต้องหาที่ 1-7 ตามลำดับ ในคดีสมเด็จช่วงครอบครองรถเบนซ์หรู ทะเบียน ขม 99 กทม. โดยไม่ชอบ มาส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษพิจารณา
ทั้งนี้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เห็นว่า คดีนี้มีความสำคัญ เป็นที่สนใจของประชาชน จึงมีคำสั่งตั้งคณะทำงานอัยการขึ้นพิจารณาสำนวน และพยานหลักฐานต่างๆ ในคดี ประกอบด้วย นายอดุลย์ เฉตวงษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1, น.ท.ทศพร สายพันธ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ และนายกฤษณะ สุขสงวน อัยการผู้เชี่ยวชาญ เป็นคณะทำงาน โดยสำนักงานคดีพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้นัดผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3, 5, และ 6 มาฟังการสั่งคดี ในวันที่ 25 พ.ย.2559 โดยผู้ต้องหาที่ 4 จะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 3 ในวันดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่หลวงพี่แป๊ะ ผู้ต้องหาที่ 7 พนักงานสอบสวนยังไม่ได้นำตัวส่งพนักงานอัยการ เนื่องจากในวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาที่ 7 อาพาธ โดยพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ จะนำส่งพนักงานอัยการอีกครั้งในภายหลัง
นายวงศ์สกุล กล่าวว่า ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ซึ่งอัยการนัดผู้ต้องหามาพบนั้น เป็นการนัดตามขั้นตอน เนื่องจากมีผู้ต้องหาที่ 4 จะครบกำหนดฝากขัง ซึ่งเราต้องนัดมาภายในวันดังกล่าว ส่วนจะมีการสั่งคดีได้เลยหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะทำงานมีการพิจารณาพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งคดีได้แล้วหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสั่งคดีได้ก็อาจจะสั่งคดีในวันดังกล่าวเลย หากพิจารณาแล้วพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอก็อาจจะมีการสอบสวนเพิ่มเติมและเลื่อนวันนัดสั่งคดีออกไป ส่วนพระมหาศาสนมุนีที่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ส่งตัวมานั้นตามปกติแล้ว เราก็จะนัดมาในวันที่ 25 พ.ย.นี้ด้วย แต่เป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่จะต้องส่งตัวมา
ผู้สื่อข่าวรายงานรายงานว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้กล่าวหาว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร หรือร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ปลอกเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม มีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พ.ร.บ.สรรสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161, 165 ประกอบกฎหมายอาญา มาตรา 137, 265, 268, 83