xs
xsm
sm
md
lg

หมายจับที่ 3 แล้วไง “ธัมมชโย-ละเอียดอ่อน” กระดิกเท้าท้าทายกฎหมาย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสีคิ้วอนุมัติหมายจับ “พระเทพญาณมหามุนี” หรือ ไชยบูลย์ สุทธิผล หรือ “ธัมมชโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อายุ 72 ปี ตามคำร้องขอของ พ.ต.อ.ชาญณรงค์ ขนาดนิด ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานความผิดร่วมกันสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี กรณีการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซวัลเล่ย์ เขาใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองจอก ม.6 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

สำหรับหมายจับดังกล่าวถือเป็นหมายจับคดีที่ 3 ของพระธัมมชโย โดยก่อนหน้านี้ คดีแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 พระธัมมชโยถูกศาลอาญาอนุมัติหมายจับฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจรที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ

ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ศาลจังหวัดเลยได้อนุมัติหมายจับฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ กรณีจัดสร้างสวนป่าหิมวันต์ ต.ร่องจิก อ.ภูเรือ จ.เลย เครือข่ายของวัดพระธรรมกายด้วยเช่นกัน

จากนั้นลองมาฟังการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีตามกฎหมายบ้านเมือง เริ่มจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่รับผิดชอบคดีที่เกี่ยวกับความมัานคง และคดีสำคัญให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ว่าหมายจับพระธัมมชโยเป็นหมายจับที่ศาลอนุมัติตามคำร้องตำรวจ หากตำรวจพบตัวก็สามารถดำเนินคดีแจ้งข้อหาได้ทันทีซึ่งเป็นมาตรการดำเนินการตามปกติ ใครออกหมายก็มีหน้าที่สืบสวนและจับกุม มั่นใจว่าพระท่านไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลแต่อย่างใด และเชื่อว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้กำลังบุกจับกุมภายในวัด เนื่องจากอายุความมีระยะเวลาถึง 15 ปี ถึงอย่างไรเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้อย่างแน่นอน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ไม่อยากดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาบ้านเมืองขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ อีกทั้งคดีดังกล่าวก็เป็นความผิดฐานบุกรุกป่า ไม่ใช่ความผิดต่อชีวิต และร่างกาย ที่จะต้องใช้กำลังเข้าไปเอาตัวมาลงผิดโดยทันที” รอง ผบ.ตร.ระบุ และว่าหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังพระธัมมชโย เพื่อเจรจาในเข้ามอบตัว ซึ่งคดีในลักษณะนี้วงเงินประกันตัวประมาณ 100,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ก็ยินดีจะพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้ประกันตัว หรือหากผู้ต้องหาระบุว่ามีความเจ็บป่วยไม่สามารถออกมาจากวัดได้ ตำรวจเองก็ยินดีเข้าไปพบ เพื่อไปแจ้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวตามความเหมาะสมต่อไป”

ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า “ทราบว่าศาลจังหวัดสีคิ้วออกหมายจับพระธัมมชโย ซึ่งเป็นการดำเนินการของตำรวจ ส่วนดีเอสไอมีหมายจับ 1 หมาย คดีร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร กรณีรับเช็คบริจาคของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ ส่วนการเข้าจับกุม พระธัมมชโยนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องรอประเมินความพร้อมทุกๆ อย่างให้รอบคอบ ดีเอสไอรอประเมินสถานการณ์ตลอด”

เป็นไงบ้าง เมื่อได้ยินคำพูดของเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่มีส่วนรับผิดชอบกับคดีดังกล่าว ที่มีธัมมชโยเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลยุติธรรม ถึง 3 หมายจับ เมื่อฟังดูแล้วทำให้มั่นใจว่าทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษจะต้องมีการจับกุมผู้ต้องหารายนี้แน่นอน “ภายใน 15 ปีนี้”

สำหรับภายใน 15 ปี ตามอายุความนั้น อาจจะมีการจับกุมภายในสองสามวันนี้ หรือสองสามอาทิตย์นี้หรือเปล่า แต่เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้วไม่น่าจะใช่ เพราะทั้ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง พูดสอดคล้องกันว่า เป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” และไม่ต้องรีบร้อนจับกุม ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าอาจมีการจับกุมเอาในช่วงปีที่ 14 หรือปีที่ 15 ก่อนหมดอายุความเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ได้

เมื่อพิจารณาจากคำพูดดังกล่าวก็ย่อมมั่นใจได้ว่า เมื่อวันนี้เป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” และอาจกระทบกระเทือนต่อพุทธศาสนา มันก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ในอนาคตอันใกล้มันก็ไม่จับกุม เพราะถึงตอนนั้นมันก็ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ดี

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามหลักการทั่วไป ตามหลักปฏิบัติของการพิจารณาขอหมายจับ รวมไปถึงขั้นตอนที่ศาลอนุมัติหมายจับ ในเบื้องต้นแม้ตามกระบวนการยุติธรรมสากลจะยังถือว่ายังไม่มีความผิด จนกว่าศาลจะตัดสินก็ตาม แต่การที่ศาลอนุมัติหมายจับ ก็ต้องพิจารณาจากหลักฐานที่ชัดเจนเหมือนกัน รวมไปถึงการที่ผู้ตัองหาไม่ยอมมอบตัว มันก็มีเจตนาต้องการบ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงการจับกุม

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากขั้นตอนทั่วไปจะพบว่าเมื่อผู้ต้องหาถูกออกหมายจับ เจ้าหน้าที่ก็ต้องติดตามจับกุมตัว ยิ่งรู้ว่าผู้ต้องหาหลบซ่อนอยู่ที่ใด ก็ต้องเข้าจับกุมทันที นอกจากหลบหนีจนไม่อาจติดตามตัวได้นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนกรณีของธัมมชโยนั้นมีเจตนาชัดเจนว่ายังหลบซ่อนอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย และที่ผ่านมาก็มีความพยายามขัดขืนไม่ยอมให้จับกุม พร้อมๆ กับ “ยืนยันว่าตัวเองไม่มีความผิด” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของจำเลยหรือผู้ต้องหาทั่วไปที่มักจะกล่าวว่า “เขาหาว่า” กันแทบทั้งนั้น

ที่ผ่านมาฝ่ายเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และตำรวจ ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะรับผิดชอบคดีของธัมมชโย โดยดีเอสไอดูแลคดีร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร ส่วนตำรวจรับผิดชอบสำนวนคดีบุกรุกป่าสงวนสองคดี ทำให้ธัมมชโย “สะสมหมายจับถึง 3 คดี” และมีตัวตนและรูแหล่งกบดานอย่างชัดเจนมานานหลายเดือนแล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้จับกุม อ้างว่าเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” อาจจะกระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งมันก็เกิดคำถามตามว่ามาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายมัน “ไร้มาตรฐาน” หรือไม่ และคำว่า “ละเอียดอ่อน” เป็นเพียงข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ในการ “เลี่ยง” บังคับใช้กฎหมายกับคนบางคนหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าการเข้าจับกุมผู้ต้องหารายนี้มันอาจไม่ง่าย และอาจมีการขัดขืนการจับกุม แต่หากเกิดเหตุแบบนั้นจริง มันก็จะได้รู้กันว่า คนพวกนี้ท้าทายและอยู่เหนือกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจับกุมคนอื่นที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ขอฃเจ้าหน้าที่ได้อีก

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศยืนยันมาหลายครั้งแล้วว่า ทุกคดีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคนทำผิดต้องไม่ให้มีที่ยืนในสังคม

แต่กรณีที่เกิดขึ้นอย่างคดี “ธัมมชโย” ที่โดนหมายจับถึง 3 หมายจับ เจ้าหน้าที่กลับยังรีรอ ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย อ้างเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” รอไปก่อน แบบมันหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า กฎหมายบังคับใช้กับคนทั่วไปที่ไม่สามารถรวมกลุ่มต่อรองอะไรได้อย่างนั้นหรือ ดังนั้น เมื่อมีถึงสามหมายจับอยู่ในมือ แต่ไม่ดำเนินการอะไร มันก็ช่วยไม่ได้ที่สังคมกำลังเฝ้ามองแบบตั้งคำถามว่า “แล้วไง” ต่อให้ออกมาอีกสิบหมายจับก็ทำอะไรกับธัมมชโยไม่ได้ ท่าทีเวลานี้จึงไม่ต่างจากการกระดิกเท้าท้าทาย!
หมายจับที่ 3 แล้วไง "ธัมมชโย-ละเอียดอ่อน" กระดิกเท้าท้าทาย กม. !!
กรณีที่เกิดขึ้นอย่างคดี ธัมมชโย ที่โดนหมายจับถึง 3 หมายจับ เจ้าหน้าที่กลับยังรีรอไม่ดำเนินการตามกฎหมาย อ้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รอไปก่อน แบบนี้มันหมายความว่าอย่างไร หมายความว่ากฎหมายบังคับใช้กับคนทั่วไปที่ไม่สามารถรวมกลุ่มต่อรองอะไรได้อย่างนั้นหรือ ดังนั้น เมื่อมีถึงสามหมายจับอยู่ในมือ แต่ไม่ดำเนินการอะไร มันก็ช่วยไม่ได้ที่สังคมกำลังเฝ้ามองแบบตั้งคำถามว่า แล้วไง ต่อให้ออกมาอีกสิบหมายจับก็ทำอะไรกับ ธัมมชโย ไม่ได้ ท่าทีเวลานี้จึงไม่ต่างจากการกระดิกเท้าท้าทาย
กำลังโหลดความคิดเห็น