สธ. เตรียมขยาย “ศูนย์พึ่งได้” ใน รพ.สต. 9,750 แห่ง ภายในปี 2560 หวังช่วยเหลือให้การปรึกษาเยียวยา “เด็ก - สตรี” ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2542 กำหนดให้ พ.ย. ของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่ง สธ. รับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการ โดยสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ ตั้งแต่ปี 2543 เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงอย่างครบวงจร ครอบคลุมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านกฎหมายและด้านสวัสดิการสังคม โดยขยายครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งแล้ว ในปี 2547
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในปี 2560 สธ. มีแผนดำเนินการ ดังนี้ 1. ขยายบริการศูนย์พึ่งได้ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 9,750 แห่ง ให้เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุ คัดกรอง และส่งต่อผู้ที่ประสบปัญหา 2. ขยายโครงการการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กของหน่วยงานด้านสาธารณสุข และแนวทางการส่งต่อในเครือข่ายระดับจังหวัดไปในสถานบริการทั้ง 12 เขตสุขภาพ 3. พัฒนาแนวทางการประเมินอายุเด็กทางคดี มีแนวทางในการตรวจประเมินอายุเด็กที่เป็นมาตรฐาน น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และ 4. พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีความรู้ ทักษะในการให้การปรึกษาแบบฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาให้สามารถก้าวข้ามจากสภาพปัญหา ฟื้นฟู และเยียวยาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว 5. จัดทำแผนยุทธศาสตร์บูรณาการการพัฒนาระบบบริการศูนย์พึ่งได้ในประเทศไทย โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
“ปัจจุบัน มี “ศูนย์พึ่งได้” ในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จำนวน 829 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป จำนวน 116 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 723 แห่ง ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2547 - 2558 พบว่า มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงมารับบริการ จำนวนทั้งสิ้น 206,244 ราย เป็นเด็ก 108,933 ราย และสตรี 97,291 ราย โดยในเด็กมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยของครอบครัว ขาดการดูแลอย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด ส่วนในสตรีมีสาเหตุมาจากการหึงหวงทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกัน และจากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 มีผู้มารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ จำนวน 22,850 ราย 63 ราย/วัน หรือ 3 คน/ชม. ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากสัมพันธภาพในครอบครัว ได้แก่ การนอกใจ ทะเลาะหึงหวงของคู่สมรส การใช้สารกระตุ้น เช่น การดื่มสุรา การใช้สารเสพติดและสื่อลามก และสภาพแวดล้อม ได้แก่ ความใกล้ชิด โอกาสเอื้ออำนวย” รมว.สธ. กล่าว