xs
xsm
sm
md
lg

สบส.ร่วม พม.คุ้มครอง “เด็กอุ้มบุญ” ตั้งแต่หลังคลอดยัน 18 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส. ลงนามร่วมกรมคุมประพฤติฝึกอบรมนวดเท้า - นวดไทย “ผู้ต้องหา” มีอาชีพหลังพ้นโทษ ป้องกันทำผิดซ้ำ พร้อมลงนามร่วมกรมกิจการเด็กและเยาวชน ติดตามคุ้มครองเด็กอุ้มบุญหลังคลอดจน 18 ปี

วันนี้ (28 ก.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง 2 ฉบับ โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นสักขีพยาน โดยฉบับแรกลงนามร่วมกับ นายเพิ่มพูน พึ่งประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยความร่วมมือในการจัดอบรมหลักสูตรบริการเพื่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 แก่ผู้ต้องหาและผู้กระทำผิดที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ เพื่อเตรียมความพร้อมการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษไปแล้ว ส่วนอีกฉบับลงนามร่วมกับนางสุภัชชา สุทธิผล รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าด้วยการบูรณาการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ความร่วมมือจัดอบรมหลักสูตรบริการสุขภาพให้แก่ผู้ต้องหาและผู้กระทำความผิด ถือเป็นการคืนคนดีกลับสู่สังคม ให้ผู้พ้นโทษมีอาชีพติดตัว ป้องกันการหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการนวดไทย โดยเน้น 2 หลักสูตรที่กำลังเป็นที่นิยมทั้งคนไทยและต่างประเทศ ได้แก่ หลักสูตรนวดเท้าเพื่อสุขภาพ 60 ชั่วโมง และหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง โดยกรมคุมประพฤติจะคัดเลือกผู้ต้องหาและผู้กระทำผิดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เช่น มีความประพฤติดี ใกล้พ้นโทษเข้ารับการฝึกอบรม ส่วน สบส. จะสนับสนุนวิทยากร ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิ และนำไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพกับ สบส. ได้ หลังพ้นโทษไปแล้ว 1 ปี

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ส่วนการสร้างระบบคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรืออุ้มบุญ จะเป็นการร่วมกันติดตามเด็กที่เกิดโดยวิธีการอุ้มบุญ ตั้งแต่หลังคลอดไปจนกว่าบรรลุนิติภาวะ อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ หรือค้าอวัยวะ โดย สบส. มีการทำหลักเกณฑ์สำหรับพ่อแม่ที่จะทำการอุ้มบุญ ซึ่งจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ก่อน เช่น การตรวจสอบสภาพจิตใจ สถานะครอบครัว สภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยหลังคลอดกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะติดตามว่ามีการเลี้ยงดูเด็กดีหรือไม่ หากเลี้ยงดูไม่ดีก็จะส่งข้อมูลมายัง สบส. เพื่อปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์ใหม่ให้เกิดความรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสูดของเด็ก

“หลังจากบังคับใช้ พ.ร.บ. อุ้มบุญ มาเกือบครบ 1 ปี มีคู่สมรสชาวไทยที่มีบุตรยากได้รับอนุญาตให้ทำอุ้มบุญไปแล้ว 35 คู่ จำนวนนี้เป็นคู่สมรสระหว่างหญิงไทยและชายชาวต่างชาติ 3 คู่ ประกอบด้วย สัญชาติอังกฤษ รัสเซีย และ ฝรั่งเศส และอยู่ระหว่างรอพิจารณาจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีอีก 4 คู่ ส่วนการโทร. ปรึกษาขั้นตอนขออนุญาต พบว่า มีชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจโทร. สอบถามเฉลี่ยเดือนละประมาณ 200 คู่” อธิบดี สบส. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น