ปลัดไอซีทีเผย สอบถามกฤษฎีกาแล้ว “ไอโชว์” ยังไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือกฎหมายใดๆ ของไอซีที หลังเกิดเหตุหนุ่มอยุธยาโอนเงินให้วีเจสาวกว่า 1.2 ล้านบาท รับจะประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เผย 26 ก.ค.นี้ นัดถกปัญหาร่วมกับ กสทช. และโอเปอเรเตอร์ทุกราย
จากกรณีที่หนุ่มชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขโมยเงินแม่ 1.2 ล้านบาท โอนให้วีเจสาวที่รู้จักผ่านแอปพลิเคชัน “ไอโชว์” จนกลายเป็นประเด็นอื้อฉาวเมื่อเร็วๆ นี้ นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในส่วนกฎหมายที่กำกับดูแลในเรื่องของแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีเช่นเดียวกับแอปพลิเคชัน “ไอโชว์” ซึ่งปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่เข้ามาดูแลเกี่ยวกับแอปพลิเคชันโดยตรง แต่จะแยกไปตามสายงานของกฎหมายที่แอปพลิเคชันนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องเป็นหลัก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการหารือร่วมกันว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย หรือเข้าข่ายตามความผิดกฎหมายของหน่วยงานใดบ้าง เช่น แอปฯ ไอโชว์ อาจต้องไปดูว่า ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เป็นไอเทมจะไปเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ การมีการโชว์ที่อาจส่อไปในทางอนาจารจะไปเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือไม่ และโฆษณาที่ปรากฏบนแอปพลิเคชันจะไปขัดต่อกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือไม่ เป็นต้น
สำหรับกรณีแอปพลิเคชัน ไอโชว์ ทางกระทรวงไอซีทีได้มีการทำเรื่องสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า เรื่องดังกล่าวเข้าข่ายมีความผิดตามมาตราใดในกฎหมายที่กระทรวงไอซีทีกำกับดูแลอยู่หรือไม่ ซึ่งทางกฤษฎีกาตอบกลับมาชัดเจนแล้วว่า ไม่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายใดๆ ของไอซีที แต่ขอความร่วมให้ไอซีทีช่วยให้ความร่วมมือในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ช่วยดูแล และประสานงานในส่วนของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ ในวันที่ 26 ก.ค.ทางไอซีทีจะมีการหารือในเรื่องมาตรการป้องกัน พร้อมเตือนประชาชนในการโอนเงินซื้อไอเทมผ่านเกม และแอปพลิเคชัน ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทุกราย
ด้าน นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันไอโชว์ ไม่ได้มีความผิดโดยตรง เพราะตัวแอปพลิเคชันเองไม่ได้หลอกลวง แต่เมื่อดูจากเนื้อหาบางส่วน และเนื้อหาของเว็บไซต์แล้ว หากเนื้อหาของแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์มีความล่อแหลมที่เกิดการยั่วยุทางเพศ ย่อมจะเป็นความผิด พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และเมื่อดูจากเนื้อหารายการทางเว็บไซต์ยูทิวบ์พบว่า มีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น มีการนำเน็ตไอดอลมาแสดงท่าทางไม่เหมาะสม ส่วนที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ในห้องวีไอพีมีการแสดงที่มากกว่าปกติ คงต้องมีการตรวจสอบ โดยหากมีการกระทำผิด หรือมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ไอซีทีสามารถพิจารณาระงับเว็บไซต์นั้นได้
ส่วนที่จะมีการฟ้องร้องเอาผิดกรณีการหลอกลวงให้โอนทรัพย์สินให้ นายไพบูลย์ กล่าวว่า กรณีนี้ข้อเท็จจริง คือ ผู้ที่โอนเงินให้บรรลุนิติภาวะแล้วอายุ 28 ปี หากไปชื่นชอบวีเจเอง และมีความสมัครใจโอนเงินไปให้ถือว่าไม่ได้เข้าข่ายหลอกลวง เว้นแต่ตัวเงินที่นำมาจากมารดาผู้รับเงินทราบหรือไม่ว่าเงินมีที่มาอย่างไร ถ้าทราบที่มาของเงินจะเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญาได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกสองประเด็น คือ การเอาเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นสติกเกอร์ หรือของรางวัลให้กับวีเจได้มีการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วหรือยัง และการให้บริการลักษณะนี้ต้องขึ้นทะเบียนพาณิยชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพานิชย์ และขึ้นทะเบียนกับ สคบ. หากผู้ให้บริการยังไม่ได้ขออนุญาต หรือขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายย่อมจะมีความผิดเกิดขึ้น ประเด็นสำคัญที่สุด คนที่มาเป็นวีเจ หรือปรากฏในเนื้อหาของเว็บไซต์ หากเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี แล้วมาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เจ้าของเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กด้วย