xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ปลื้ม! แก้ปัญหาเด็กแว้น-ร้านเหล้าใกล้สถานศึกษาลดลงร้อยละ 80

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รมว.ยธ.นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามผลการแก้ปัญหาเด็กแว้น พบปัญหาลดน้อยลงร้อยละ 36 ส่วนปัญหาร้านเหล้าใกล้เคียงสถานศึกษาลดลงถึงร้อยละ 80 พร้อมเสนอทางป้องกัน 6 ข้อแก้ปัญหานักเรียนนักเลงต่อเนื่อง หวังให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในสิ้นเดือนนี้

วันนี้ (26 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 1 ชั้น 9 อาคาราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการประสานกำกับติดตามผลการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 22/2558 (ศอ.กต.) ครั้งที่ 4/2559 โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการฯ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

พล.อ.ไพบูลย์เปิดเผยหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ศอ.กต.ได้รับทราบรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์ในทาง ปัญหาสถานบริการและจำหน่วยาสุราในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผลการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์ จากรายงานการแจ้งเหตุของภาคประชาชนผ่านระบบทวิตเตอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า เดือน ส.ค. 59 มีปริมาณการรับแจ้งรวม 21 ครั้ง ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยที่มีปริมาณการรวมตัวประมาณ 33 ครั้งต่อเดือน อันเป็นการลดลงร้อยละ 36 ซึ่งจำนวนคนที่รวมตัวลดลงนั้นอาจเกิดจากสภาพภูมิอากาศส่วนหนึ่ง แต่พบว่ามาตรการที่ตำรวจภูธรภาค 1 ใช้นโยบายการจับกุมแอดมินเพจที่สนับสนุนการแข่งรถหลายครั้งทำให้มีผลในการปราบกลุ่มแข่งจักรยานยนต์ลดลงได้มาก ส่วนถนนที่ยังคงเป็นจุดอ่อนที่มีการรวมตัวหลายครั้งเป็นถนนวิภาวดีรังสิต และถนนกาญจนาภิเษก

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานบริการและจำหน่ายสุรา พบว่ามีความคืบหน้าในการจัดระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่พบการฝ่าฝืนอีก รวมทั้งผู้ประกอบการร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรอบมหาวิทยาลัยได้ปรับกิจการเป็นร้านจำหน่ายอาหารและไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วกว่าร้อยละ 80 นอกจากนี้ ได้กำหนดแผนงานที่ชัดเจนและไม่มีการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราเขตใกล้เคียงสถานศึกษาอีก

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ศอ.กต.ได้หารือและพิจารณาถึงแนวทางการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 30/2559 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ควบคุมดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย โดยการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแนวทางให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมทั้งหมด 6 ข้อ 1. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ตามหมวด 7 แห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กเพื่อให้สามารถช่วยระงับเหตุ โดยให้อบรมแก่ ครู ผู้ปกครองของโรงเรียนกลุ่มอาชีวศึกษาให้ครบทุกสถาบันทั่วประเทศ ภายในเดือนกันยายนนี้

“2. ประเมินสถานศึกษากลุ่มเสี่ยงและจัดโครงการค่ายสุภาพบุรุษ โดยให้ทางทหารเรือจัดค่ายอบรมนักศึกษาใหม่ก่อนเปิดการสอน 3. ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดโครงการ “รุ่นพี่น้ำดี” ทำความเข้าใจกับรุ่นน้อง และให้นักศึกษาบำเพ็ญประโยชน์กับตำรวจ 4. จำแนกสถานศึกษากลุ่มเสี่ยง และให้สถานศึกษาจำแนกแยกกลุ่ม ขาว เทา ดำ เพื่อให้ครูที่ปรึกษาเข้าทำกิจกรรมกับกลุ่มเทาและดำ โดยมีกลไกการเยี่ยมบ้านและพูดคุยกับผู้ปกครอง”

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า 5. กรณีทราบกลุ่มโรงเรียนเสี่ยง อาจให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพิจารณาการขยายกรอบการทำงานของโครงการความร่วมมือระหว่างสถานพินิจฯและสถานศึกษากลุ่มเสี่ยง โดยจัดกิจกรรมให้นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ เข้าทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และ 6. กรณีที่สามารถระบุนักเรียนที่มีความเสี่ยงในเชิงพฤติกรรมอาจให้หน่วยงานอื่น เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมพินิจฯ เข้าร่วมในการป้องกัน นอกจากนี้ ในวันนี้ได้เสนอเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด เข้าไปอีกเรื่องเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลเด็กและเยาวชนทั้งระบบ

“อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้พิจารณาขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีในการจัดทำโซนนิ่งสถานบันเทิงใกล้เคียงสถานศึกษาระดับอนุบาลเนื่องจากไม่มีความจำเป็น เด็กในวัยนี้มีอายุน้อยเกินไปไม่อยู่ในภาวะรับรู้เรื่องดังกล่าว แต่ในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทั่วประเทศ” พล.อ.ไพบูลย์กล่าวปิดท้าย


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น