xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ จ่อทบทวนภาษีบาป “สสส.- ไทยพีบีเอส” เป็นผ่านระบบงบประมาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กมธ. ยกร่างฯ จ่อทบทวนเงิน สสส.- ไทยพีบีเอส เป็นแบบจ่ายภาษีผ่านระบบงบประมาณ 10 - 11 ส.ค. สกัดช่องนักการเมืองหาประโยชน์ ก่อปัญหาด้านคลัง ขณะที่ สสส. ย้ำ ยกเลิกภาษีบาปทำรัฐสูญภาษีไปกว่าหมื่นล้านบาท ด้าน ไทยพีบีเอส ชี่ ทำงานสื่อสาธารณะไม่ได้ หากถูกคุม บอกเป็นสื่อครบวงจร

วันนี้ (9 ส.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ศ.จรัส สุวรรณมาลา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ภาษีบาป ผลกระทบ สสส.- ไทยพีบีเอส” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่า กมธ. ยกร่างฯ ต้องการให้รัฐบาลในอนาคตดำเนินนโยบายด้านการคลังอย่างมีวินัย เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างจากหลายประเทศที่มีปัญหาด้านการคลัง ทั้งกรีซ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอังกฤษ เป็นต้น ประเทศไทยจะประมาทโดยปล่อยให้รัฐบาลไม่มีวินัยทางการคลังไม่ได้ ซึ่งไทยมีช่องโหว่มาก สิ่งสำคัญต้องปิดช่องทางที่จะทำให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายการคลังไปเป็น นโยบายประชานิยม หรือหาประโยชน์จากจุดนี้ให้น้อยลง จึงมีการยกร่างฯ ในส่วนของการเงินการคลัง

ศ.จรัส กล่าวว่า สำหรับการเก็บภาษีนั้น มี 2 ประเภท คือ 1. ภาษีทั่วไปที่เก็บ ซึ่งนำไปใช้กิจการพื้นฐานสาธารณะ เป็นเงินรายได้แผ่นดินและไปทำงบประมาณออกมา และ 2. ภาษีที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งมีหลายแบบ โดยเฉพาะการเก็บภาษีแบบ Earmarked tax ซึ่งรัฐบาลจัดเก็บภาษีเพิ่มเข้ามา เหมือนการเก็บภาษีจากธุรกิจเหล้าและยาสูบเพิ่มร้อยละ 2 เพื่อเข้ากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร้อยละ 1.5 เข้าองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) หรือร้อยละ 2 เข้ากองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยหลักการจะเก็บภาษีจากคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนั้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งตรงนี้ตัวอย่างชัดจาก สสส. แต่ไทยพีบีเอส และกองทุนกีฬาฯ ยังไม่ชัดเจน หากจะเป็น Earmarked Tax ก็ควรเอารายได้จากสื่อที่คิดว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ มาให้ไทยพีบีเอส เพราะบอกว่าเป็นสื่อที่ดี แบบนี้จะเข้าข่ายมากกว่า

การที่ กมธ. ยกร่างฯ เห็นควรปรับแก้นั้น ไม่ได้บอกว่าจะยุบ สสส. หรือหน่วยงานที่ใช้งบลักษณะนี้ เพราะข้อดีก็มี แต่ที่กังวลคือ การเก็บเช่นนี้อาจนำไปสู่กลุ่มอื่น ๆ ที่ต้องการเข้ามาใช้งบลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพราะแม้จะมีระบบตรวจสอบดีแค่ไหน แต่ก็เป็นช่องทางที่นำงบไปใช้แล้ว เอากลับคืนไม่ได้เลย อย่างสหรัฐอเมริกามีการใช้งบประมาณลักษณะนี้เยอะมาก และเพิ่มขึ้นทุกวัน เมื่อจะควบคุมก็ทำไม่ได้ ขนาด บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยบอกจะควบคุมก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้น ต้องพิจารณาให้ดี และหาหนทางเพื่อป้องกันปัญหาดีกว่าหรือไม่ กมธ. ยกร่างฯ เห็นว่า จากที่จ่ายภาษีแบบ Earmarked Tax ให้นั้น อาจต้องทบทวนเป็นการจ่ายภาษีผ่านระบบงบประมาณให้กับองค์กรเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า การเก็บแบบ Earmarked bugget ซึ่งจะมีการพิจารณาในการยกร่างวันที่ 10 - 11 สิงหาคมนี้ แต่ในรายละเอียดก็ต้องมาพิจารณา เพราะต้องเข้าใจว่าหากจะป้องกันปัญหา จะห้ามไม่ให้องค์กรอื่นทำแบบ สสส. คงไม่ได้ เพราะเขาก็จะอ้างว่า สสส. ยังทำ เราจึงต้องหาจุดร่วมที่ดีทุกฝ่าย” ศ.จรัส กล่าว

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า หากมีการทบทวนการจัดเก็บภาษีระบบใหม่จริง จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาล ทำให้สูญเงินจากการเก็บภาษี 10,000 - 12,000 ล้านบาท โดยเงินก้อนนี้จะกลับไปเป็นโบนัสให้กลุ่มธุรกิจยาสูบและเหล้า ยกเว้นโรงงานยาสูบของรัฐ ขณะที่ สสส. ทำให้รัฐเก็บภาษีเพิ่มได้ เพราะเมื่อไรที่มีการเก็บภาษีบุหรี่หรือเหล้า เพิ่มมักเกิดแรงต้าน แต่ สสส. ขับเคลื่อนข้อเท็จจริงมาตลอด ทำให้เก็บภาษีได้ จากเดิมปี 2546 เก็บภาษีบุหรี่ได้ 33,582 ล้านบาท ก็เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จนปี 2558 เก็บได้ถึง 67,000 ล้านบาท ขณะที่ภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่า 120,000 ล้านบาท และยังสามารถลดปริมาณนักสูบลงได้ โมเดลของ สสส. จึงเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ส่วนกรณีที่คนมองว่า สสส. มุ่งแต่โฆษณารณรงค์ จริง ๆ แล้วเราใช้งบแค่ 200 ล้านบาทเท่านั้น และเราทำงานด้านอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนอีก ขณะที่สหรัฐฯใช้งบรณรงค์ 115,000 ล้านบาท แต่มีการศึกษาว่าแม้การออกแคมเปญต่าง ๆ ไม่ช่วยลดนักสูบนักดื่มมากนัก แต่ทำให้สังคมตระหนัก และส่งผลต่อการเก็บภาษีบาปได้ ซึ่งรัฐบาลไทยต้องพิจารณาว่า งบสสส. ราว 4,000 ล้านบาท แต่ทำให้สถานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้น และองค์การอนามัย ยังชูโมเดลลักษณะนี้ โดยปัจจุบันมี 30 กว่าประเทศดำเนินการ ไทยก็เช่นกัน

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวว่า การตรวจสอบและเรื่องวินัยทางการคลังนั้น ไทยพีบีเอส ไม่เคยขัดข้อง แต่ขอให้ตรวจสอบหน่วยงานลักษณะนี้ให้เหมือนกันด้วย เพราะที่ผ่านมาสถานีฯ ทำงานชัดเจนว่าเป็นสื่อสาธารณะ ทั้งการอนุรักษ์น้ำ ป่าไม้ อย่างกรณีเขาหัวโล้น ก็นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทำมากกว่าแหล่งอื่นอีก แต่ไม่ได้บอกว่าดีกว่า ดังนั้น หากมีกลไกบางอย่างทำให้ไม่สามารถทำงานแบบนี้ได้อีก จะกล้าทำข่าวที่ตั้งคำถามใด ๆ ได้ ทั้งที่นี่คือ หัวใจของการเป็นสื่อสาธารณะด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง ประชาชนคนไทยประมาณ 40 ล้านคน จ่ายภาษีเข้ารัฐ หากคิดต่อหัวที่ส่งเข้าไทยพีบีเอสประมาณ 50 บาทต่อคนต่อปี ในราคา 50 บาท ซื้อมติชนสุดสัปดาห์ได้ 1 เล่ม ขณะที่สถานีไทยพีบีเอส มีรายการทีวีตั้งแต่ตี 5 ถึงตี 2 มีรายการตอบโจทย์ มีรายการอาหาร มีรายการผู้สูงอายุ มีรายการเพื่อเด็กและเยาวชน มีสถานีร้องทุกข์ ตามหาเด็กหาย คนหาย ปีละหลายสิบคน ทำให้ครอบครัวที่จากกันได้มาเจอกันอีก ไทยพีบีเอสออกข่าวตามคนเจอได้ ลักษณะนี้ตีค่าเป็นเงินได้หรือไม่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น