แหล่งข่าวระดับสูงใน กมธ.ยกร่างฯ เผยปรับที่มาอำนาจหน้าที่ กก.แต่งตั้งข้าราชการไว้ในกฎหมายลูกแทน แจงเปิดกว้างอิงตามร่างเดิมหรือเพิ่มใหม่ก็ได้ เหตุมีเสียงแย้งนักการเมืองสั่งข้าราชการไม่ได้ งานไม่เดิน เลิกกำหนดสั่งการโดยมีลายลักษณ์อักษร เหตุ ครม.ท้วงมีอยู่แล้วใน พ.ร.ฎ. เพิ่มหมวดคลัง ใช้งบต้องผ่านการวิเคราะห์ความคุ้มค่า พร้อมแขวนนิยามความหมาย “เงินแผ่นดิน” มองยังไม่รอบคอบ หวั่นมีปัญหาตีความ
วันนี้ (10 ก.ค.) แหล่งข่าวระดับสูงในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า จากเดิมร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 206-207 กำหนดให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมจำนวน 7 คน มาจาก 3 ภาคส่วน คือ 1. ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนแต่งตั้งมา 2 คน 2. อดีตปลัดกระทรวงที่ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าคัดเลือกมา 3 คน และ 3. ประธานกรรมการจริยธรรมทุกกระทรวงเลือกกันเองมา 2 คน ทำหน้าที่พิจารณาการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่านั้น ทางกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้ยกเลิกการบรรจุรายละเอียดที่มาของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เหลือไว้เพียงการให้มีคณะกรรมการดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ ส่วนรายละเอียด ที่มา อำนาจหน้าที่ให้ไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแทน
“เราแค่ให้มีการบัญญัติไว้กว้างๆ ว่าการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการทุกระดับต้องใช้ระบบคุณธรรม ไม่ได้เจาะจงที่ตำแหน่งปลัดกระทรวงอย่างเดิม และเปิดกว้างให้ผู้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไปกำหนดที่มา อำนาจหน้าที่ โดยอาจจะอิงตามร่างเดิมหรือคิดเพิ่มเติมขึ้นใหม่ก็ได้” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลให้แนวคิดเดิมที่ต้องการแยกระบบราชการไม่ให้ตกอยู่ใต้อาณัติหรือระบบอุปถัมภ์โดยฝ่ายการเมืองเป็นอันต้องยกเลิกไป เนื่องจากมีความเห็นแย้งว่าหากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่อาจสั่งการข้าราชการได้ การบริหารราชการแผ่นดินอาจมีปัญหาไม่อาจขับเคลื่อน
นอกจากนี้ยังมี กมธ.ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 209 ซึ่งกำหนดให้การสั่งการในการบริหารราชการแผ่นดินให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเดิมกรรมาธิการยกร่างฯ บัญญัติไว้ เพื่อแก้ปัญหานักการเมืองสั่งการด้วยปากเปล่า แล้วไม่รับผิดชอบในคำสั่งนั้น หรือสั่งการเพื่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน โดยปัดความรับผิดชอบให้ข้าราชการประจำ ขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำเองไม่อาจปฏิเสธได้ หรือไม่มีหลักฐานเพื่อปกป้องตนเอง ซึ่ง ครม.ได้ทักท้วงว่าข้อบัญญัติดังกล่าวมีอยู่แล้วในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 อยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเอามาบัญญัติในรัฐธรรมนูญอีก
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า สำหรับหมวดการคลังและการงบประมาณ มาตรา 199-205 ส่วนใหญ่คงตามหลักการเดิมที่ร่างมา เพื่อทำให้เกิดวินัยการเงินการคลัง และป้องกันการใช้จ่ายผ่านนโยบายประชานิยม แต่ล่าสุดมีการเพิ่มเติมให้รัดกุมขึ้น โดยนำความเห็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รมว.คลัง ที่สอดคล้องตามความเป็นธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ละประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่าตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมตามมาตรา 35 (7) และ (8) มาบัญญัติเพิ่มเติม เช่น กำหนดว่าการออกนโยบายใดๆ ที่ใช้เงินงบประมาณจะต้องผ่านการวิเคราะห์ความคุ้มค่า และบอกแหล่งที่มาของเงิน รวมทั้งมาตรการภาษีจะต้องจัดเก็บอย่างเป็นธรรม โดยจัดเก็บจากฐานภาษีทุกฐาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังแขวนมาตรา 200 ว่าด้วยการให้นิยามความหมายของคำว่า “เงินแผ่นดิน” ไว้ก่อน เนื่องจากมองว่าหากนิยามไว้โดยไม่รอบคอบเพียงพอ หากนำไปตีความอาจเกิดปัญหาในอนาคต