สน. พระอาทิตย์
ที่สำคัญ “รอยร้าว” ลึกๆ ที่เกิดขึ้นนี้ มาเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายในการแต่งตั้ง “ผบ.ตร.” คนใหม่ ที่ฝ่ายหนึ่ง คือ พล.ต.อ.สมยศ เกี่ยวข้องในฐานะผู้เสนอชื่อ “ผบ.ตร. คนใหม่” ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) พิจารณา และอีกฝ่ายหนึ่ง คือ พล.ต.อ.เอก ก็เป็นแคนดิเดต ที่มีสิทธิขึ้นเป็น “ผบ.ตร. คนใหม่” ด้วยเช่นกัน
ดูท่าประเด็นร้อนๆ การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่มีคำสั่งให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ถอนมติในการประชุม ก.ตร. ที่เพิกถอนการได้รับสิทธิทวีคูณในการเลือนตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งทำให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เสียสิทธิในตำแหน่งเป็น ผบช.ภ.1 ในการแต่งตั้งวาระประจำปี 2553 ที่กำลัง “วุ่นวาย” ภายใน “กรมปทุมวัน” ตอนนี้
จะไม่ใช่เพียง “รอยร้าว” ระหว่าง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กับ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ที่ทำหนังสือคัดค้านการลงมติในการประชุม ก.ตร. ที่มี พล.ต.อ.สมยศ นั่งหัวโต๊ะประธาน ก.ตร. ให้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองเท่านั้น
แต่ “รอยร้าว” เรื่องการอุทธรณ์ครั้งนี้ ยังบานปลายขยายความนำไปสู่การตอกลิ่มรอยร้าวเก่า ระหว่าง “พล.ต.อ.สมยศ” กับ “พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” รอง ผบ.ตร. ให้ปริแยกแตกกันขึ้นอีกครั้ง
หลังจากคู่นี้เคยปะทะกันเมื่อปีที่แล้วในการช่วงชิงเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ต่อจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. ที่เกษียณอายุราชการ ทั้ง พล.ต.อ.สมยศ และ พล.ต.อ.เอก ต่างก็เป็นคู่แคนดิเดตเก้าอี้ผู้นำสีกากี มีการใช้กำลังทั้งภายนอก ภายใน ใต้ดิน บนดิน ชิงความได้เปรียบกันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แบบที่เรียกว่าไม่มองหน้ากันไปพักใหญ่
สุดท้ายเกมจบ พล.ต.อ.สมยศ ได้นั่งอยู่ในใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็น ผบ.ตร.
ตามวิถีทางการทำงาน ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร. ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ตามหน้าที่ความรับผิดชอบ แม้ลึกๆแล้วต่างก็รับรู้กันว่า “เกาเหลา” ยังเป็นเมนูโปรดของทั้งคู่อยู่!!!
ยิ่งมาในช่วง 2 - 3 เดือนหลัง พล.ต.อ.สมยศ โปรโมต พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. อย่างออกหน้าออกตา เหมือนส่งสัญญาณเป็นนัยจะสนับสนุนสืบทอดเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ต่อจากตัวเอง แทนที่จะสนับสนุน พล.ต.อ.เอก ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดระดับ รอง ผบ.ตร. และจะเกษียณอายุราชการในปี 2559 เพียงเท่านั้น ก็ยิ่งทำให้ “เกาเหลา” ถูกเติมเนื้อเติมหนังมากขึ้นไปในตัว
“รอยร้าว” ของทั้งคู่ก็ยิ่งมาถูกตอกลิ่มให้แผลปริกว้างมากขึ้นไปอีก จากประเด็นที่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ยื่นหนังสือไปถึง พล.อ.ประวิตร คัดค้านการลงมติในการประชุม ก.ตร. ที่ พล.ต.อ.สมยศ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ที่ให้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว เพราะ พล.ต.ท.ศรีวราห์ เห็นว่าขัดต่อกฎหมายและขัดข้อบังคับการประชุม ก.ตร.
ประเด็นแรกไม่มีการเลือกให้ พล.ต.อ.สมยศ ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน พล.อ.ประวิตร ประเด็นที่สอง พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ไม่มีสิทธิร่วมประชุม เพราะเคยเป็นคู่กรณีที่มีการฟ้องร้องจากการเป็น ก.ตร. ชุดเดิม
กระทั่ง พล.อ.ประวิตร สั่งให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มีหนังสือแจ้งสั่งการ ผบ.ตร. ระบุถึงเรื่องคัดค้านดังกล่าว และให้ ผบ.ตร. ตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แล้วพิจารณาเสนอความเห็นโดยด่วนภายใน 29 มิ.ย. 2558
ซึ่งในช่วง พล.ต.อ.สมยศ ลาราชการไปต่างประเทศ พล.ต.อ.เอก รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้รับหนังสือดังกล่าวและสั่งการต่อไปยัง พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร ที่ปรึกษา (สบ10) ให้ไปหารือร่วมกับตัวแทนสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาตามที่มีการสั่งการและร้องเรียน
โดยผลการหารือโดยได้ข้อสรุปว่า ในประเด็นที่ว่าไม่มีการเลือกให้ พล.ต.อ.สมยศ ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน พล.อ.ประวิตร นั้นสามารถทำได้ เนื่องจากมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 88/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก.ตร. โดยกำหนดให้ผบ.ตร.เป็นรองประธาน ก.ตร.และกฎหมายวิธีปฏิบัติทางปกครอง ดังนั้น การทำหน้าที่ของ พล.ต.อ.สมยศ สามารถทำได้
ขณะที่ประเด็นที่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ โต้แย้งกรณี พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่มีสิทธิร่วมประชุมนั้น ชี้ว่าเป็นการร่วมพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องของตัวเองในฐานะคู่ความว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคลอื่นเลย รอง ผบ.ตร. ทั้ง 2 คน จึงมีสิทธิพิจารณา
พล.ต.อ.เอก จึงนำความเห็นจากคณะ พล.ต.อ.ชัยยง และตัวแทน กมค. และ ก.ตร. ส่งให้ ผบ.ตร. พิจารณา พร้อมแนบความเห็นส่วนตัวแย้งความเห็น มีการลงคะแนนลับถึง 2 ครั้งนั้น ไม่น่าชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับพร้อมทั้งเสนอให้ประธาน ก.ตร. นัดประชุมมีมติลงคะแนนใหม่
แต่พอ พล.ต.อ.สมยศ กลับมาจากต่างประเทศ และประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในวงประชุม ก.ตร. พล.ต.อ.สมยศ แสดงความไม่เห็นด้วยกับความเห็นแย้งของ พล.ต.อ.เอก รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ ที่มองว่า “ไม่ใช่หน้าที่” และ พล.ต.อ.สมยศ ก็ออกมายอมรับเรื่องดังกล่าวผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อ
“ประเด็นที่ พล.ต.อ.เอก แย้งภายหลังว่าการลงมติ 2 ครั้ง ไม่น่าจะชอบนั้น วันนี้ได้สอบถามกันว่าเหตุใดไม่แจ้ง คิดเห็น คัดค้าน ตั้งแต่การประชุมครั้งก่อน ซึ่ง พล.ต.อ.เอก แจ้งว่า ครั้งนี้มีข้อมูลที่เปลี่ยนไป”
แม้ พล.ต.อ.สมยศ จะออกตัวด้วยว่า ทุกคนมีสิทธิโดยชอบแสดงความเห็น เมื่อมีข้อมูลเปลี่ยน ไม่มีความขัดแย้งอะไร กระนั้นก็ดูเหมือนว่า พล.ต.อ.สมยศ จะไม่แยแสกับข้อท้วงติงของพล.ต.อ.เอก เพราะยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองและ ก.ตร. กระทำถูกต้องตามกฎหมาย
ไม่หักหน้าก็เหมือนหักหน้า!!!
ถึงเบื้องหน้าจะยืนยันไม่ใช่ความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เบื้องลึกก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลิ่มรอยร้าวได้ถูกตอกย้ำอาการหมางใจระหว่าง พล.ต.อ.สมยศ กับ พล.ต.อ.เอก ให้แผลปริแยกกว้างขึ้นไม่มากก็น้อย
ที่สำคัญ “รอยร้าว” ลึกๆ ที่เกิดขึ้นนี้ มาเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายในการแต่งตั้ง “ผบ.ตร.” คนใหม่ ที่ฝ่ายหนึ่ง คือ พล.ต.อ.สมยศ เกี่ยวข้องในฐานะผู้เสนอชื่อ “ผบ.ตร.คนใหม่” ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) พิจารณา และอีกฝ่ายหนึ่ง คือ พล.ต.อ.เอก ก็เป็นแคนดิเดต ที่มีสิทธิขึ้นเป็น “ผบ.ตร. คนใหม่” ด้วยเช่นกัน
แบบนี้จึงต้องจับตากันอย่างห้ามกะพริบ.