ยุทธจักรสีกากีใก้ลระเบิด “ศรีวราห์” ฮึดสู้ ทำหนังสือร้อง “บิ๊กป้อม” มติลับ 3-2 อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองเยียวยาการเสียโอกาสจากนับทวีคูณอายุราชการ ชนแหลก “เอก-พงศพัศ” หาเป็นคู่ขัดแย้ง เคยสอยตัวเองเมื่อปี 2555 ซัด “สมยศ” ฉวยโอกาสเล่นกลตอนประธาน ก.ตร.เดินทางไปทำภารกิจ แฉลงคะแนนครั้งแรกเสมอ 2-2 แต่ให้นับใหม่จนแพ้ไป 1 แต้ม กระฉ่อนศึกนี้ใหญ่หลวงมีเดิมพันด้วยเก้าอี้ “ผบ.ตร.”
จากกรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้พิจารณาตามคำสั่งศาลปกครองให้เยียวยา พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.เกี่ยวกับการนับทวีคูณอายุราชการ แต่ปรากฏว่าที่ประชุมได้ลงมติลับ 3-2 ให้อุทธรณ์มีรายงานข่าวว่า พล.ต.ท.ศรีวาห์ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีมติการประชุม (ลับ) ก.ตร. ครั้งที่ 8/2558 เมื่อ 25 มิ.ย. 2558 เรื่องให้อุทรณ์คำสั่งศาลปกครองการนับวันทวีคูณโดยอ้างว่าทราบจาก ก.ตร.ท่านหนึ่งซึ่งเข้าประชุมเมื่อวันดังกล่าว 11.00 น. ประธาน ก.ตร.ติดภารกิจออกจากที่ประชุม และได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ทำหน้าที่ประธานแทน จากนั้น ผบ.ตร.ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และขอให้มีมติในเรื่องนี้ ที่ประชุมพิจารณาให้มีการลงคะแนนลับ มี ก.ตร.ร่วมพิจารณา 7 ท่าน
คำร้อง ผบช.น.ระบุต่อไปว่า ปรากฏผลการลงคะแนนลับ ไม่อุทธรณ์ 2 ให้อุทธรณ์ 2 งดออกเสียง 3 เสียง ทำให้คะแนนเท่ากัน ประธานในที่ประชุมจึงได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ถ้าให้ประธานลงคะแนนเสียงด้วยก็จะถูกฟ้องคนเดียว” และได้สั่งพักการประชุม ก่อนที่ประธานจัดให้มีการลงคะแนนเสียงใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยทางลับ ผลคือไม่อุทธรณ์ 2 ให้อุทธรณ์ 3 งดออกเสียง 2 เสียงนั้น ขอเรียนว่าการดำเนินการออกเสียงลงคะแนนและมีมติดังกล่าว ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับ ก.ตร.
“กรณี พล.ต.อ.สมยศ ทำหน้าที่แทนประธาน ก.ตร.นั้น ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 42 วรรค 2 บัญญัติไว้ว่า ในการประชุมฯ ถ้าประธาน ก.ตร.ไม่อยู่ให้ ก.ตร.เลือก ก.ตร.คนใดคนหนึ่งเป็นประธาน แต่ในการประชุมนี้ไม่มีการเลือกแต่อย่างใด จึงทำให้การประชุม ก.ตร.ครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนั้น ในกรณีการประชุม ก.ตร.ดังกล่าวที่ลงคะแนนลับในครั้งแรก ผลคะแนนเท่ากัน ตามข้อบังคับ ก.ตร.ว่าด้วยการประชุมและการลงคะแนน พ.ศ. 2547 กำหนดให้ว่ากรณีเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาดโดยพลัน แต่การที่ประธานในที่ประชุมได้สั่งให้พักแล้วมีการลงคะแนนใหม่อีกครั้ง มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.ที่ร่วมลงมตินั้น ทั้งคู่เป็นกรณีและมีส่วนได้เสียเนื่องจากอยู่ร่วมประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 9/2555 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2555 ที่ตนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ ก.ตร.มีมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้มีมติเพิกถอนมติ ก.ตร.ดังกล่าว
ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้กระทำการพิจารณาทางการปกครอง ตามมาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และ ข้อบังคับ ก.ตร.ว่าด้วยการประชุมและการลงมติของ ก.ตร.และอนุ ก.ตร. พ.ศ. 2547 มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การประชุม ก.ตร.ดังกล่าวได้พิจารณาว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ของตน ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ เป็นการพิจารณาทางปกครอง การกระทำดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงได้มีหนังสือขอเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม ก.ตร.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม การประชุมดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดสั่งการให้ยกเลิกมติในการประชุมดังกล่าวเพื่อให้ถูกต้องต่อไป
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตรได้สั่งการให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองเลขาฯ นายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งถึง ผบ.ตร.ระบุว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ ได้มีหนังสือด่วนมาก ลงวันที่ 25 มิ.ย. 58 คัดค้านการลงมติในการประชุม ก.ตร.อันขัดต่อกฎหมาย และข้อบังคับ จากการประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 วาระเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 1360 /2558 ให้ ผบ.ตร.ตรวจสอบ โดยพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แล้วเสนอความเห็นโดยด่วนในวันที่ 29 มิ.ย. 58 แต่เนื่องจาก ผบ.ตร.เดินทางไปราชการต่างประเทศ พล.ต.อ.เอก รรท.ผบ.ตร.ได้รับหนังสือดังกล่าว และสั่งการไปยัง พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร ที่ปรึกษา (สบ 10) ให้หารือเรื่องนี้ร่วมกับตัวแทนสำนักงานกฎหมายและคดี และตัวแทนสำนักงาน ก.ตร.เพื่อพิจารณาตามที่มีการสั่งการและร้องเรียน โดยผลการหารือเบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่า
ประเด็นที่ว่าไม่มีการเลือก พล.ต.อ.สมยศทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน พล.อ.ประวิตรนั้น สามารถทำได้ เพราะมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 88/57 การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วย ตร.เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก.ตร.โดยกำหนดให้ ผบ.ตร.เป็นรองประธาน ก.ตร. ดังนั้นการทำหน้าที่ของ พล.ต.อ.สมยศสามารถทำได้
ส่วนที่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ โต้แย้งกรณี พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่มีสิทธิร่วมประชุมเพราะเป็นคู่กรณีและมีส่วนได้เสียนั้น ประเด็นนี้ชี้ว่าเป็นการร่วมพิจารณาว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาในฐานะ ก.ตร.ซึ่งเป็นคู่ความตามคำพิพากษาของศาลปกครอง รอง ผบ.ตร.ทั้ง 2 คนจึงมีสิทธิพิจารณา
โดยสรุปว่าการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ผ่านมาชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามกฏข้อบังคับ ทั้งนี้ ตร.ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร เพื่อขอขยายเวลาการชี้แจงเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบและรอให้ พล.ต.อ.สมยศ กลับจากไปราชการได้ร่วมพิจารณาอีกครั้ง
มีรายงานด้วยว่า ศึกเยียวยาทวีคูณอายุราชการ น.1 ที่มีการลงมติลับ 3-2 มาจนถึงการแฉแหลกของ พล.ต.ท.ศรีวราห์ครั้งนี้ ทำให้บรรยากาศภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกิดความเคร่งเครียดขึ้นมาทันที โดยเฉพาะ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ที่เคยเฮฮากับกลุ่มผู้สื่อข่าว กลับเงียบขรึม แม้แต่คดีมือปืนยิงนายสมยศ สุธางค์กูร หรืออดีตเจ้าพ่อพระราม 9 คาเฟ่ ผบ.ตร.ยังสงวนท่าทีต่างจากทุกครั้ง ทั้งนี้เชื่อกันว่านอกจาก พล.ต.อ.สมยศจะไม่สบายใจแล้วยังมีนายตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.อีกหลายนายพลอยรู้สึกอึดอัดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจมีเดิมพันกันด้วยเก้าอี้ และศักดิ์ศรีของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ในฐานะผู้นำสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยก็ว่าได้