วิป สปช.พอใจอภิปรายร่าง รธน. 2 วันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ห่วง 7 จุดเสี่ยงในร่าง รธน. ยันไม่มีการฮั้วกันกับ กมธ. หากไม่เป็นประชาธิปไตยพร้อมโหวตคว่ำ แม้ต้องตายไปตามกัน
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงการณ์ประเมินผลการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันที่สองว่า การประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตามแนวทางที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ได้วางแนวทางไว้ สมาชิกได้อภิปรายอย่างตรงไปตรงมาทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หวังว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะนำไปทบทวน การส่งสัญญาณหลายประเด็นมีผลต่อการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า มีอยู่ 4 ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดเสี่ยงคือ 1.ความกังวลเรื่องการออกแบบระบบวิธีการเลือกตั้งที่อาจทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ 2.ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่เปิดโอกาสให้คนนอกดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ และเป็นปมของความขัดแย้งต่อไป 3.โครงสร้างรัฐธรรมนูญวางน้ำหนักให้ระบบราชการมากเกินไป อาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายบริหารราชการแผ่นดินได้ และ 4.แนวนโยบายแห่งรัฐ ต้องการให้มีความชัดเจนและมีผลในทางปฏิบัติ เพราะแฝงไว้ด้วยแนวทางการปฏิรูปประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพิจารณาในประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญมีความยาวมากเกินไปหรือไม่ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ความยาวมากหรือสั้นเกินไปไม่เป็นปัญหา เพราะฉบับหลังๆ ก็มีความยาวใกล้เคียงกัน ที่มีความยาวมากขึ้นเพราะมีบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งมีความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ปัญหาอยู่ที่การนำไปปฏิบัติหรือนำไปบังคับใช้ให้เกิดผลตามหลักนิติธรรม อีกประเด็นที่มีความกังวลใจคือองค์กรที่มีการจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่มีความกังวลในเรื่องขอบเขต ภาระหน้าที่ งบประมาณ การให้อำนาจข้าราชการมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจมีผลต่อฝ่ายการเมือง
ส่วนประเด็นนโยบายแห่งรัฐควรให้มีความชัดเจนและมีผลในทางปฏิบัติอย่างไรนั้น เลขานุการ วิป สปช. กล่าวว่า นโยบายแห่งรัฐควรครอบคลุมมากขึ้น อย่างเช่นคำว่า "ควรจะ" หรือ "น่าจะ" ควรใช้คำว่า "ต้อง" แทน โดยปกติรัฐบาลต้องรายงานทุกปีว่าได้ดำเนินการตามนโยบายแห่งรัฐไว้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทำบ้างไม่ทำบ้าง
ต่อข้อถามถึงการป้องกันนโยบายประชานิยม นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนนั้นมีกลไกที่รัฐธรรมนูญวางไว้ มีการกำหนดในขั้นต้นให้ กกต. ดูนโยบายที่ใช้หาเสียงที่ส่อว่าเป็นนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง และหากเป็นรัฐบาลแล้วนโยบายนั้นทำให้เกิดความเสียหายผิดพลาดต่อประโยชน์แผ่นดินหรืองบประมาณแผ่นดิน ก็มีศาลปกครองแผนกคดีวินัยและงบประมาณในการพิจารณาความผิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสมาชิก สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร นายอลงกรณ์กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า สปช. จะโหวตรับหรือไม่รับ แต่ กมธ.ยกร่างฯ มีอิสระในการนำไปทบทวนหรือไม่ ต้องรับผลแห่งความเสี่ยงในการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ
"การเสนอความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในวันที่สองนั้น ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระ ไม่มีการฮั้วกันระหว่าง สปช. กับ กมธ.ยกร่างฯ ใครจะบอกว่าเป็นแฝดอิน จัน ถ้าโหวตไม่รับแล้ว สปช. จะต้องตกตายไปด้วยกัน ผมยืนยันว่า สมาชิก สปช. ทุกคนมีความกล้าพอที่จะโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หรือสืบทอดอำนาจ หรือไม่ส่งผลประโยชน์ต่ออนาคตของประเทศ สปช. ก็พร้อมที่จะโหวตไม่รับ หรือถูกยุบตกตายไปตามกัน"