xs
xsm
sm
md
lg

สปช.แห่รับร่าง รธน. แต่สื่อแห้วอดได้ด้วย “บุญเลิศ” โวยแทน ก่อนแนะไปบี้ กมธ.ยกร่างฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แห่รอรับร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน ได้ 3 ชุด “อมร” คว้าคนแรก รองโฆษก กมธ.ประชาสัมพันธ์ฯ โวยแทนสื่อมวลชน หลังอดได้ร่าง แนะบี้ซัก กมธ.ยกร่างฯ ทำไมไม่แจก

วันนี้ (17 เม.ย.) ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดให้สมาชิก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาเสร็จแล้วเป็นร่างแรก ได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. บริเวณห้องโถง ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 แต่ปรากฏว่าสมาชิกให้ความสนใจมารอรับร่างรัฐธรรมนูญก่อนเวลาเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศคึกคักตั้งแต่เวลา 12.00 น. และเริ่มแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญก่อนเวลาที่กำหนด โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ได้แจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับสมาชิกด้วยตัวเอง สำหรับสมาชิก สปช.1 คนจะได้รับแจกเอกสาร 3 ชุด ประกอบด้วย 1. ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 194 หน้า โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 315 มาตรา จำนวน 130 หน้า รายงานการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ 20 หน้า และภาคผนวก 44 หน้า 2. ตารางสรุปเจตนารมณ์รายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 4 เล่ม และ 3. ตารางร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18-19 เม.ย. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ยังเปิดให้สมาชิก สปช.เข้ามารับเอกสารได้แม้เป็นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทั้งนี้ บริเวณจุดรับเอกสารยังได้ตั้งจุดลงชื่อแสดงความประสงค์ขออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลแรกที่ลงชื่อ คือ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิก สปช.

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช รองโฆษกคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. แถลงถึงกรณีที่ไม่มีการแจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับสื่อมวลชนโดยมีการอ้างเป็นการทำผิดกฎหมายว่า ตั้งแต่เที่ยงของวันนี้ สมาชิกได้เดินทางมารับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมการอภิปรายในวันที่ 20-26 เม.ย.แล้ว ส่วนปัญหาที่เกิดกับสื่อมวลชนที่ไม่ได้เอกสารเช่นเดียวกับที่ สปช.ได้รับนั้น ตนในฐานะเคยเป็นสื่อสารมวลชนประจำรัฐสภากว่า 10 ปี จึงถูกรุมล้อมจากนักข่าวว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญไปศึกษาทำหน้าที่สรุปสาระสำคัญให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นสื่อสารมวลชนที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและคำนึงถึงสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

“สิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญหรือหมายถึงเสียงประชาชน เมื่อรัฐธรรมนูญยกร่างฯ เสร็จก็ชอบที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้มีโอกาสรับรู้ ไม่สมควรที่จะปกปิดร่างรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม เพราะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดมาจำกัดสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เช่น ในปี 2540 ร่างเสร็จมีการเผยแพร่ต่อประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อรับฟังความเห็นเรียกว่ากระบวนการประชาพิจารณ์ ในปี 2550 ก็มีการจัดพิมพ์เป็นเล่มแจกประชาชนทำประชามติ ในครั้งนี้จะต้องฟังเสียงประชาชนด้วย และที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดจะเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 27 เมษายนนั้น นักข่าวต้องไปตั้งคำถามว่ามีความชอบธรรมที่จะดำเนินการอย่างนั้นหรือไม่ ซึ่งผมไม่กลัวถูกตำหนิเพราะนักข่าวสามารถได้ร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.คนใดก็ได้เพราะมีทั้งหมด 250 คน” นายบุญเลิศกล่าว

















กำลังโหลดความคิดเห็น