xs
xsm
sm
md
lg

สื่อ 3 จชต.ย้ำคนสื่อจะต้องมีการควบคุมดูแลกันเองปราศจากการแทรกแซง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีการปฏิรูปสื่อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อทุกสาขาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สื่อจะต้องมีการควบคุมดูแลกันเอง

วันนี้ (26 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นเกี่ยวกับสื่อชายขอบ สื่อเพื่อผู้ด้อยโอกาส สื่อทางเลือก และสื่อสันติภาพ โดยมี รอง ศ.ชุมพล รอดคำดี ประธานกรรมาธิการฯ เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของการปฏิรูปสื่อ จำนวน 30 คน โดยมีการนำเสนอใน 11 ประเด็น
 

 
ซึ่งปัญหาที่สื่อทางเลือก สื่อชายขอบ สื่อกระแสหลัก ได้ร่วมกันนำเสนอ ได้แก่ ปัญหาที่เกิดขึ้น ระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายในเรื่องของการปิดสถานวิทยุชุมชนแบบเหมารวมของ กสทช. ทั้งที่สื่อที่เข้าถึงประชาชน เป็นประโยชน์ และนำสันติภาพมาสู่พื้นที่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สื่อวิทยุชมชน ในขณะที่ตัวแทนจากสื่อวิทยุภาครัฐก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า มีกฎหมายของ กสทช. ที่ออกมา ทำให้สถานีขาดอิสระในการดำเนินงาน และไม่สามารถที่จะเสนอข่าวสาร หรือผังรายการที่เป็นความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ในเวทีมีการนำเสนอในจุดแข็งของสื่อใหม่ สื่อชายขอบ สื่อออนไลน์ และอื่นๆ ที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึง และสื่อต้องการที่จะรายงานในสิ่งที่เป็นจริงจากกลุ่มคนที่ถูกกระทำ และด้อยโอกาสที่เกรงอำนาจรัฐที่อาจจะเห็นว่าเป็นสื่อที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
 

 
ในส่วนของสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อซึ่งยังไม่มีการดูแลอย่างทั่วถึงนั้น นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ได้ให้ภาพรวมต่อเวทีแห่งนี้ว่า ใน 11 ปีที่ผ่านมา พบว่าสื่อในพื้นที่ถูกหน่วยงานของรัฐจับตามอง และมีการคุกตามเกิดขึ้นโดยตลอด และมีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่สื่อถูกขบวนการแบ่งแยกดินแดนข่มขู่คุกคาม ส่วนในเรื่องสวัสดิการของผู้ทำหน้าที่สื่อยังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา มีเพียงสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ฯ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับต้นสังกัดของสื่อเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทำได้อย่างไม่เต็มที่

หนังสือพิมพ์ภาคใต้ฯ กล่าวว่า ในการนำเสนอข่าวผู้ที่ทำหน้าที่สื่อได้เสนออย่างครอบถ้วน แต่เป็นปัญหาที่กองบรรณาธิการส่วนกลาง ไม่ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ และวิทยุ ที่ไม่ได้นำข่าวที่เสนออย่างครบถ้วนไปนำเสนอ เป็นการเลือกที่จะนำเสนอข่าวในบางส่วนบางมุมเท่านั้น จึงอยากให้คณะกรรมาธิการได้แก้ปัญหาให้ตรงประเด็น เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากสื่อระดับปฏิบัติการ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากส่วนกลางคือ กองบรรณาธิการ
 

 
และสุดท้ายในเรื่องของการปฏิรูปสื่อ สื่อทุกสาขาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สื่อจะต้องมีการควบคุมดูแลกันเอง โดยมีองค์กรที่เป็นวิชาชีพเป็นหลัก โดยต้องการเห็นว่าการปฏิรูปสื่อในครั้งนี้สื่อจะต้องเรียกความเชื่อมั่น และศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น