xs
xsm
sm
md
lg

4 องค์กรสื่อฯถก’สปช.’ ย้ำหลักการควบคุมดูแลกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่รัฐสภา ผู้แทนสื่อมวลชน 4 องค์กร คือ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้าพบ นายจุมพล รอดคำดี ประธาน กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช.เพื่อหารือเกี่ยวกับ ร่าง พรบ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ...ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช.ไปแล้ว หลังหารือ นายจุมพล แถลงข่าวว่า เจตนาที่ กมธ.สื่อสารมวลชนฯเชิญ 4 องค์กรสื่อมาพบปะเพื่อต้องการทราบเหตุผลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ พรบ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ด้านตัวแทนคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป นำโดย นายเทพชัย หย่อง แถลงว่า ส่วนใหญ่แล้วเข้าใจตรงกันในหลักการที่ต้องการให้มีกลไกตรวจสอบการทำงานสื่อ แต่มีบางประเด็นที่เป็นห่วง เช่น การรับรองใบประกอบวิชาชีพ ที่มาของเงินกองทุนสภาวิชาชีพสื่อ รวมถึงจำนวนเงินที่อาจสูงเกินไป รวมถึงกระบวนการสรรหาคณะกรรมการฯ ที่จะต้องไม่เป็นไปเพื่อการแทรกแซงหรือครอบงำการทำงานของสื่อ

ทั้งนี้ได้ยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาแนวทางในการกำกับดูแลจริยธรรมสื่อขององค์กรสื่อต่อ นายจุมพล เกี่ยวกับแนวทางและกลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐและทุน รวมถึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานการสนับสนุนให้สื่อควบคุมกันเอง

ด้านสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และสมาคมสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง(ประเทศไทย) จัดงานเสวนา"ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.มาถูกทางหรือไม่" ซึ่งเป็นแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่งมองว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาด้านอำนาจ หน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล สิทธิหน้าที่ของสื่อมวลชน องค์กรผู้บริโภค รวมถึงองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ยังต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขใหม่

นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เปิดเผยว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายฉบับนี้ซึ่งอยู่ระหว่างที่รอเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่ามีเนื้อหาเพิ่มเติมที่แก้ไขยังไม่ตรงจุดในหลายประเด็นที่มีปัญหา ทั้งการสรรหากรรมการที่เข้ามากำกับดูแล ไม่ได้เน้นค้นหาคนที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในวิชาชีพสื่อ รวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรม รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ให้มีความเป็นธรรม

รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า มองว่าการแก้ปัญหาควรแก้ให้ตรงจุด จุงอยากเสนอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อทำร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อเป็นรายละเอียดตามที่องค์กรนั้นๆ ต้องการให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาว่าส่วนใดควรแก้อย่างไร เพื่อให้มีประสิทธิภาพและให้สิทธิ์กับทุกฝ่าย

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ผู้ที่มีบทบาทคือกสทช. สะท้อนว่าสำนักงานกสทช.เป็นใหญ่ ขณะเดียวกันกฎหมายในหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการสรรหาผู้มาเป็น กสทช. อาทิ การหนดคุณสมบัติคนมาเป็น กสทช. ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ คือ รองศาสตราจารย์ หรือ รศ. แต่ไม่กำหนดว่าต้องเป็น รศ. ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นหรือไม่ รวมถึงไม่สอดคล้องคือการเปลี่ยนจากองค์กรอิสระ ให้ไปอยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(บอร์ด ดีอี) ต้องรายงานให้ทราบและตัดสินใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น