xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจไทรอยด์ฮอร์โมนทารกแรกคลอดใน 48 ชม. ป้องกัน “โรคเอ๋อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รพ.เด็ก แนะพ่อแม่ส่ง “ทารกแรกคลอด” ตรวจคัดกรอง “โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน” ภายใน 48 - 72 ชั่วโมง ชี้ หากฮอร์โมนผิดปกติรักษาทัน ป้องกันโรคเอ๋อ ปัญญาอ่อน เผยอุบัติการณ์พบ 1 ใน 3 - 4 พันราย พบมากที่เหนือและอีสาน ย้ำหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร กินยาเม็ดวิตามินรวมต่อเนื่อง
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ www.mamaexpert.com
พญ.พิริยา จันทราธรรมชาติ แพทย์ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กแรกเกิด พบว่า เด็กแรกเกิด 3,000 - 4,000 คน จะพบโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) 1 คน ส่วนใหญ่จะพบบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กที่ไม่มีต่อมไทรอยด์ หรือมีต่อมไทรอยด์ผิดตำแหน่ง และความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น การขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโต ซึ่งโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนจะทำให้เกิดโรคเอ๋อ หรือภาวะปัญญาอ่อน

พญ.พิริยา กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันทารกแรกเกิดทุกคน จึงควรเข้ารับโปรแกรมการคัดกรองโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดทันทีภายหลังมีอายุครบ 48 - 72 ชั่วโมง โดยทีมแพทย์จะทำการวินิจฉัยเด็กโดยการเจาะเลือดจากส้นเท้า หรือหลังมือเพียงเล็กน้อย เพื่อส่งมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตต่าง ๆ ซึ่งหากพบความผิดปกติที่บ่งชี้ลักษณะของอาการใด ๆ ทางโรงพยาบาลจะติดตามทารกมาตรวจสอบซ้ำ หรือเข้ารับการรักษาทันที ส่วนทารกที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองเบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและตรวจอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิดในช่วงอายุ 2 - 3 เดือนว่าเข้าข่ายในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคหรือไม่ อาทิ ภาวะตัวเหลืองนาน ท้องผูก ท้องอืด ดูดนมไม่ดี ลิ้นโต กระหม่อมกว้าง ซึ่งจะปรากฏอย่างชัดเจน และควรนำลูกมารับการรักษาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะเด็กยังสามารถเจริญเติบโต รวมถึงมีพัฒนาการและสติปัญญาตามปกติได้เช่นกัน

นอกจากการตรวจคัดกรองโรคแล้ว หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรยังต้องรับสารไอโอดีนในระดับที่เพียงพอ เพื่อป้องกันความผิดปกติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อย 250 ไมโครกรัมต่อวัน และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อย 90 ไมโครกรัมต่อวัน และเพิ่มเป็น 150 ไมโครกรัมต่อวันในช่วงวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศปี 2556 พบว่า หญิงตั้งครรภ์มากกว่าร้อยละ 50 มีค่าเฉลี่ยไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะขาดไอโอดีนที่มีผลต่อการเกิดภาวะปัญญาอ่อนของทารกแรกเกิดได้ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งจ่ายยาเม็ดวิตามินรวม ประกอบด้วยไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ตั้งแต่ฝากครรภ์จนถึงช่วงให้นมบุตรเป็นเวลา 6 เดือน” พญ.พิริยา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น