xs
xsm
sm
md
lg

รวม 3 กองทุนไม่แก้ปัญหาเรื้อรังในบัตรทอง หวั่นสิทธิอื่นรับผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมออภิวัฒน์” ชี้รวม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ไม่แก้ปัญหาเรื้อรังภายในสิทธิบัตรทอง เหตุเกิดจากการบริหารของ สปสช. ทั้งบังคับแนวทางการรักษา การใช้ยาบัญชียาหลักฯ ทำผู้ป่วยบัตรทองตายสูง หวั่นสิทธิอื่นได้รับผลกระทบด้วย

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการประชุมวิชาการกฎหมายการแพทย์ครั้งที่ 5 “ระบบกฎหมายสวัสดิการการรักาพยาบาล รวม 3 กองทุน : ข้อดีข้อเสีย” จัดโดยสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ และสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ว่า จากข้อมูลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ต้องยอมรับว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการจริง ดังนั้น หากพูดถึงเรื่องการรวมกองทุนแล้วจะแก้ปัญหาผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะยังตายสูงหรือไม่ ต้องมาดูสาเหตุก่อนว่าอัตราการตายสูงเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งจากการพิจารณาก็พบว่าบัตรทองในปัจจุบันยังมีปัญหา

ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวว่า ในแง่ของผู้ป่วยเอง ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก เพราะปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล จากการทำให้คนเข้าใจว่าทุกอย่างฟรีหมด ทำให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรก็มีภาระงานที่หนัก จนส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย โอกาสที่แพทย์จะตรวจพบเจอโรคยากที่ซ่อนอยู่ก็ยากมากขึ้น นอกจากนี้ การบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ทำให้เกิดปัญหา ทั้งงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับ การบังคับแนวทางการรักษาแบบไม่ผ่อนปรน ทำให้บางครั้งไม่สามารถใช้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ การบังคับใช้ยาบัญชียาหลักแห่งชาติ การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แบบเหมาโหล ทำให้ขาดคุณภาพ และไม่มีความหลากหลาย

นอกจากนี้ การทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกอย่างรักษาฟรี ซึ่งที่จริงไม่ใช่ การรักษาบางอย่างต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ก็ยอมรับไม่ได้ จะให้โรงพยาบาลออกค่าใช้จ่ายให้ ซึ่ง สปสช. ก็บอกว่าต้องรักษาแต่ไม่มีเงินให้ สุดท้ายก็ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน กลายเป็นวงจรอุบาทว์ การจะรวมกองทุน จึงมองไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร และหากมีการรวมกองทุนและใช้แนวทางบริหารแบบ สปสช. ก็อาจทำให้สิทธิอื่นได้รับผลตามไปด้วย การแก้ปัญหา มองว่า สปสช. จะต้องบอกความจริงกับสังคมว่าทุกอย่างไม่ได้ฟรี ยกเลิกการไม่ผ่อนปรนแนวทางการรักษา เพดานค่ารักษาโรคควรเป็นแบบเฉลี่ยค่าใช้จ่าย เพิ่มงบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกในกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความพิการหรือตาย เป็นต้น” ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น