xs
xsm
sm
md
lg

งัดข้อมูลโต้ สปสช.ยัน ขรก.ป่วยความดันหนักกว่าแต่ตายน้อย จี้บัตรทองปรับปรุงการรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อานนท์” โต้ทีดีอาร์ไอ - สปสช. แจงบัตรทองป่วยความดันสูงอาการหนักกว่าข้าราชการทำให้ตายสูง ไม่จริง งัดข้อมูล สวปก. สำรวจพบ ข้าราชการป่วยมากกว่า อาการหนักกว่า และหาหมอน้อยกว่าบัตรทอง แต่อัตรารอดชีวิตสูงกว่า จี้ปรับปรุงการรักษา

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า หลังจากนำข้อมูลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่พบว่าผู้ป่วยอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปของสิทธิบัตรทองในโรคความดันโลหิตสูง มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าข้าราชการถึงร้อยละ 70 มาเปิดเผย ทำให้ที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พยายามอ้างว่า ผู้ป่วยบัตรทองนั้นป่วยหนักกว่าจึงทำให้เสียชีวิตมากกว่า แต่จากการศึกษาเรื่อง National Health Exam Survey โดยสถาบันวิจัยระบบประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน รวมถึง สปสช. ด้วยนั้น กลับพบข้อมูลที่ต่างออกไป โดยพบว่า กลุ่มข้าราชการป่วยเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าบัตรทอง

ดร.อานนท์ กล่าวว่า ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวชัดเจนว่า กลุ่มข้าราชการอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีอัตราความชุกในการป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าบัตรทอง โดยพบว่าความชุกอยู่ที่ร้อยละ 55.4 ขณะที่บัตรทองอยู่ที่ร้อยละ 46.2 และประกันสังคมอยู่ที่ 43.7 นอกจากนี้ ยังสำรวจพบว่ากลุ่มสิทธิข้าราชการอายุมากกว่า 60 ปี ยังมีภาวะอ้วนกว่า เป็นเบาหวาน และไขมันมากกว่าสิทธิบัตรทองด้วย และมีข้อมูลตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าอาการหนักกว่าผู้ป่วยบัตรทองในวัยเดียวกัน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ และอัตราการไปพบแพทย์น้อยกว่าบัตรทอง เพราะต้องไปในเวลาราชการ แต่เมื่อได้รับการรักษาแล้วอย่างโรคความดันโลหิตสูงอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยของสิทธิข้าราชการกลับสูงกว่า ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าตรงข้ามกับสิ่งที่ทีดีอาร์ไอและ สปสช. พยายามออกมาให้ข้อมูล ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานการรักษาของบัตรทองนั้นมีปัญหาเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น