xs
xsm
sm
md
lg

กรมบัญชีกลางเล็งขยายสิทธิ ขรก.รักษาผู้ป่วยใน รพ.เอกชนอีกกว่า 100 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมบัญชีกลาง จับมือ รพ.เอกชน เล็งขยายผู้ป่วยในสิทธิข้าราชการเข้าใช้บริการได้อีกกว่า 100 แห่ง “อัมมาร” ชี้ขยายสิทธิได้แต่อย่ากระทบงบ 60,000 ล้านบาทต่อปี ด้านคนรักหลักประกันฯ ชี้ บัตรทองถูกเพ่งเล็งใช้งบมาก เสนอ สปสช. บริหารงบข้าราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้บุคลากรสาธารณสุขและข้าราชการ มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการผ่านไลน์ ว่า ต่อไปตัวข้าราชการและครอบครัว หากเจ็บป่วยจะไม่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐ แล้ว เพราะล่าสุดกรมบัญชีกลางเตรียมขยาย รพ.เอกชน เพิ่มเติม ซึ่งมีการประสานกับ รพ.เอกชน ไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศชัดเจน โดยขณะนี้มีการจัดทำคู่มือการใช้บริการ รพ.เอกชน ประเภทผู้ป่วยในสิทธิข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการและครอบครัวเข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยในกว่า 18,000 รายใน รพ.เอกชน 30 แห่ง แต่มีเสียงเรียกร้องให้ขยายโครงการให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม โดยเฉพาะ รพ.เอกชน ในส่วนภูมิภาค ซึ่งจากการหารือกับรพ.เอกชน ปรากฏว่า มี รพ.เอกชน สนใจเข้าร่วมอีก 66 แห่ง รวมกับของเดิมเป็น 96 แห่ง ครอบคลุม 26 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งขยายจำนวนโรคที่เข้ารับการรักษาจากเดิม 78 โรค เป็น 86 โรค ทั้งกลุ่มโรคศัลยกรรมทั่วไป กลุ่มศัลยกรรมประสาท กลุ่มออร์โธปิดิกส์ กลุ่มหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มจักษุ กลุ่มกุมารศัลยกรรม กลุ่มสูติ-นรีเวชกรรม กลุ่มทางเดินปัสสาวะ และกลุ่มโสต ศอ นาสิก เป็นต้น

พล.ต.หญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวว่า คู่มือดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง และสมาคม รพ.เอกชน ซึ่งได้มีการหารือกันว่าจะพัฒนาอย่างไรต่อไป จนสรุปเบื้องต้นว่าอาจต้องมีการขยาย รพ. มากขึ้นประมาณ 100 แห่ง จากเดิมกว่า 30 แห่ง แต่คู่มือดังกล่าวเป็นการทำเพื่อรองรับประกาศของกรมบัญชีกลางในอนาคต ยังไม่มีการใช้แต่อย่างใด เพราะยังต้องหารือในรายละเอียด ขณะนี้ยังคงใช้ประกาศเดิมเมื่อปี 2554

ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่ารายละเอียดคู่มือใหม่ และไม่ทราบว่ามีการกำหนดราคากับ รพ.เอกชน อย่างไร แต่กรมบัญชีกลางต้องบริหารงบประมาณให้คงไว้ที่ไม่เกิน 60,000 ล้านบาทต่อปีให้ได้ เพราะเป็นงบที่จำกัดไว้ และหากกรมบัญชีกลางบริหารเกินก็ต้องหาเงินมาชดเชย ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการขยายให้ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการเข้ารับบริการ รพ.เอกชน เพิ่มเติมอย่างไร แต่หากคงงบไม่ให้เกินที่กำหนดก็ถือว่าทำได้ สำหรับบัตรทองจากการวิเคราะห์ที่ผ่านมาควรมีการเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2 ต่อปี หรือรัฐควรเจียดเงินให้อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท เพราะงบไปถึง รพ. ก็จะเป็นรูปงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งไม่ได้มากมาย ขณะที่การพัฒนาในส่วนรพ. สังกัด สธ. ก็แทบไม่มี จะทำได้ก็เป็นเงินสำรองหรือเงินบำรุง

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า หากกรมบัญชีกลางจะขยายสิทธิผู้ป่วยในให้ข้าราชการ ไปใช้บริการ รพ.เอกชน เพิ่มเติมคงไม่มีใครว่า หากควบคุมงบประมาณในวงเงินไม่เกิน 60,000 ล้านบาทต่อปี ได้ตลอด แต่หากงบต้องเพิ่มเติม เพราะเอาไปให้ รพ.เอกชน อันนี้ไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงระบบประกันสุขภาพภาครัฐ สิทธิบัตรทองที่ดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคนต้องตกเป็นจำเลย เป็นแพะมาตลอดว่า ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองกว่าแสนล้านบาท เพิ่มขึ้นทุกปี แต่หากพิจารณามีการจัดสรรเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว ขณะที่ประกันสังคมดูแลคนกว่า 10 ล้านคน ก็เหมาจ่ายรายหัว แต่สิทธิข้าราชการดูแลคน 5 ล้านคน แต่ใช้งบมากมาย โดยบอกว่าเป็นสิทธิ ซึ่งหากพูดถึงสิทธิก็ย่อมทำได้ เพียงแต่หากจะควบคุมงบประมาณด้านประกันสุขภาพฯ อยากให้มองทุกกองทุนฯด้วย

สิทธิข้าราชการที่ผ่านมาแม้จะคงงบไว้ไม่เกิน 60,000 ล้านบาท แต่ก็มีบานปลายอยู่บ้าง โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยโรคมักให้ยาแพง ๆ จนเคยเป็นประเด็นครั้งหนึ่ง รวมไปถึงการให้กลูโคซามีน ซึ่งข้าราชการมองว่าเป็นยารักษาข้อเข่าเสื่อม แต่จริง ๆ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มบัญชียาหลักแห่งชาติ ถือว่าไม่จัดเป็นยาด้วยซ้ำ แต่ล่าสุดมีกลุ่มข้าราชการไปฟ้องศาลปกครอง ขอให้ใช้ยานี้ได้อีก คือ ข้าราชการได้สิทธิมากมาตลอด ซึ่งไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้มีกระบวนการตรวจสอบว่า การจ่ายยาแพงเกินไปหรือไม่ และสมควรให้ยาในลักษณะใด เพราะเอาเข้าจริงกรมบัญชีกลาง ไม่สามารถมาตรวจสอบตรงนี้ได้ ทำได้เพียงจ่ายเงินดังกล่าว และรับรองสิทธิข้าราชการ ดังนั้น การบริหารจัดการให้ดีและอยู่ในงบประมาณ รวมทั้งประสบการณ์ต่อรองราคากับ รพ.เอกชน ควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้สปสช.ทำหน้าที่บริหารให้เหมือนกองทุนพัฒนาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลพนักงานและลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น