ข้าราชการเฮ! มีผลแล้วคำสั่งศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงการคลังที่สั่ง “ตัดสิทธิ์” ยาโรคข้อเสื่อม ตั้งแต่ ปี2553 ย้อนรอยคำสั่งใคร! ห้ามเบิกจ่ายยากลุ่ม SYSADOA จากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและไม่ให้คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
วันนี้ (20 พ.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักงานศาลปกครองเรื่อง ศาลปกครองพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ
“ด้วยศาลปกครองกลางได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๐๒/๒๕๕๘ ระหว่างนางสาวปิติ กาญจนโหติ ผู้ฟ้องคดี กับ กระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดี และคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๐๓/๒๕๕๘ ระหว่าง นายบัญชา สหเกียรติมนตรี ผู้ฟ้องคดี กับกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดี
โดยพิพากษาเพิกถอนหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ที่กําหนดให้กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบ และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและไม่ให้คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มดังกล่าว
“โดยให้การเพิกถอน มีผลตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลแห่งคําพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา”
จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
เลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง”
ย้อนรอยคำสั่ง ที่กค 0422.2/ว127 ห้ามเบิกจ่ายยา
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แจ้งเวียน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อานวยการสถานพยาบาลของทางราชการ/สถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกาหนด เพื่อทราบและแจ้งให้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ
เรื่องการกาหนดรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการโดยได้กาหนดให้ กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยติน ซัลเฟตและไดอะเซอเรน)ทุกรูปแบบและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทา อาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้าม เบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และไม่ให้ คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีสิทธิใช้เป็น หลักฐานประกอบการเบิกเงินจากส่วนราชการต้นสังกัด เนื่องจากกลุ่มยาดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับสาหรับการเบิกค่ายากลุ่ม SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟตและไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบ และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและ อนุพันธ์) ที่มีการสั่งใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี หากแพทย์ผู้รักษาเห็นสมควรสั่งยากลุ่มดังกล่าว เพื่อบรรเทาอาการหรือเพื่อเป็นวิตามินเสริมให้แก่ผู้ป่วยก็สามารถ สั่งใช้ยาได้ โดยผู้ป่วยต้องชาระค่าใช้จ่ายเองจะนามาเบิกจ่ายใน ระบบสวัสดิการฯไม่ได้
กรมบัญชีกลางชี้แจงรายการที่ห้ามเบิกจ่ายกับข้าราชการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง (ขณะนั้น) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งมีท่านปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พร้อมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์หลายท่านร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจัดทำมาตรการกำกับดูแลการใช้ยาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการ ทางการแพทย์ เพื่อศึกษาทบทวนเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติ
คณะทำงานฯ ได้มีการสืบค้น รวบรวมเอกสารงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิผลและความคุ้มค่าจากการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ พบว่าสถานพยาบาลหลายแห่งมีสัดส่วนการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติมากถึง ร้อยละ 60-70 และใช้จ่ายงบประมาณสูงมาก โดยเฉพาะโรคข้อและกระดูกมีการสั่งยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติและมีราคาแพงมาก คณะทำงานฯ จึงมีการศึกษา รวบรวมงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการรักษาของกลุ่มยาประเภทบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า ชื่อทางการแพทย์คือกลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบ และกลุ่มยาที่ฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พบว่า มีประสิทธิผลในการรักษาไม่ชัดเจน และมักพบในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือประเภทวิตามิน ใช้เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ทางการแพทย์ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ไตวาย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสามารถรักษาอาการของโรคได้อาจไม่เกิดประโยชน์และไม่คุ้มค่ากับราคายาที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีหนังสือสั่งการกำหนดให้กลุ่มยาดังกล่าวเป็นรายการที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตามที่คณะทำงานวิชาการทางการแพทย์เสนอ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ในทางการแพทย์ถ้าแพทย์ผู้รักษาเห็นว่าการสั่งยากลุ่มดังกล่าวเพื่อบรรเทาอาการหรือเพื่อเป็นวิตามินเสริมให้แก่ผู้ป่วยก็สามารถสั่งใช้ยาได้ โดยผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายเองจะนำมาเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการไม่ได้
สั่งคุมเข้มค่ารักษา อ้างประหยัดเงินปีละกว่า 600 ล้าน
จากข้อมูลของกรมบัญชีกลาง พบว่า ในปีงบประมาณ 2552 และ 2553 ในระบบสวัสดิการข้าราชการ มีมูลค่าการเบิกกลูโคซามีนจากโรงพยาบาล 34 แห่ง ปีละกว่า 600 ล้านบาท หรือเดือนละราว 50 ล้านบาท ภายหลังจากที่กรมบัญชีกลางออกประกาศห้ามการเบิกจ่าย แต่ถูกคัดค้าน จึงผ่อนผันให้มีการเบิกจ่ายได้แต่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินตนเองไปก่อนแล้วนำใบเสร็จไปเบิกกับต้นสังกัดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พบว่า หลังการประกาศดังกล่าวจนถึง มีนาคม 2555 ระยะเวลา 9 เดือน มีการสั่งกลูโคซามีน จำนวน 5,343 ครั้ง มูลค่าเฉลี่ยครั้งละ 1,400 บาท มูลค่ารวม 7.31 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 8 แสนบาท ซึ่งผู้เบิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อแม่ของข้าราชการและข้าราชการบำนาญถึง 75%
การห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนในผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการที่มีทั้งสิ้นราว 5 ล้านคน ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการบำนาญและพ่อแม่ข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่โอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมตามวัยมีมาก แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าผู้ใช้สิทธิที่จำเป็นต้องได้รับยานี้มีจำนวนเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจำนวนจะน้อยหรือมาก ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยแน่นอน เพราะนั่นเท่ากับว่า ไม่สามารถเบิกค่ายากลูโคซามีนได้อีก เว้นแต่หากต้องการก็ควักเนื้อจ่ายเอง
ขรก.พลเรือนอาวุโส ฟ้องต่อศาลปกครอง
ต่อมาสมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโสได้เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีคณะกรรมการบริหารสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีมติห้ามข้าราชการและผู้ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยาแก้ข้อเสื่อม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 โดยเห็นว่า กรมบัญชีกลางทำไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยที่ห้ามไม่ให้ใช้ยา และละเมิด สิทธิข้าราชการ ที่กรมบัญชีกลางอ้างว่ายากลูโคซามีนเป็นอาหารเสริมนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการอ้างจากคุณสมบัติของกลูโคซามีนคลอไรด์ ซึ่งไม่มีสรรพคุณรักษาอาการปวดและชะลออาการข้อเสื่อมได้อยู่แล้ว อีกทั้งยังได้อ้างจากงานวิจัยของแพทย์สหรัฐอเมริกา ที่รายงานว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อมได้ผลดีกว่าการใช้ยา ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ในสหรัฐมักจะเลือกวิธีที่แพงกว่าในการรักษาผู้ป่วย แต่จากรายงานของศัลยแพทย์สหภาพยุโรประบุว่า ยากลูโคซามีนซัลเฟตใช้ได้ผลดีในการรักษาอาการปวดและชะลออาการข้อเสื่อมได้
โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ศาลปกครองพิพากษา จึงมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว127 ที่ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 และวันนี้ (20 พ.ค.) ก็มีผลวันที่มีการประกาศผลแห่งคําพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา