xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาคำสั่ง คสช.ที่ 108 ตำรวจสับสนจับ “คนค้ายา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ปมปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ หากไม่รีบแก้ไขนอกจากจะเป็นช่องให้ผู้ค้ารายย่อยอาศัยช่องว่างกระทำผิดแล้วก็จะบั่นนทอนการทำงานของ “ตำรวจ” ให้ลดประสิทธิภาพไปตามขอบเขตข้อกำหนดที่ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ

การยกเลิก “กฎอัยการศึก” และนำกฎหมาย “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาบังคับใช้ คงไม่ส่งกระทบต่อการทำงานของ “ตำรวจ” แบบที่บรรดา “บิ๊กสีกากี” ออกมานั่งยัน นอนยัน เพราะแม้การใช้มาตรา 44 และการออกประกาศ คสช.เรื่องต่างๆ ออกมาเพิ่มอำนาจทหารเข้ามาร่วมสอบสวนคดีความมั่นคงร่วมกับตำรวจ แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือน “ตำรวจ” จะปรับตัวได้กับการที่ต้องมีทหารมามีส่วนร่วมกับการทำงานในแต่ละวันตั้งแต่มีการใช้กฎอัยการศึกใหม่ๆ

โดยเฉพาะเรื่อง “สอบสวน” ที่ถึงคำสั่งจะให้ทหารมาร่วมสอบด้วย แต่เอาเข้าจริงๆทหารก็แค่เข้ารับฟังการสอบสวน ซึ่งการทำสำนวน ตำรวจก็เชี่ยวชาญมากกว่ามาตรา 44 จึงดูจะไม่ส่งผลกระทบอะไรกับ “ตำรวจ” มากนัก

แต่สิ่งที่กระทบต่อการทำงานของ “ตำรวจ” อย่างมากตอนนี้ เห็นจะเป็นประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 108/2557 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทําผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบําบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ซึ่งออกมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2557

ผ่านมาจนเหลืออีกไม่ถึง 3 เดือนดี ก็จะครบ 1 ปี “ตำรวจ” ยังสับสนและเจอปัญหากับการทำงานด้าน “ยาเสพติด” ตามคำสั่ง 108 ฉบับนี้ ไม่จบไม่สิ้น ไม่เคลียร์

ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 108/2557 เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทําผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบําบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ระบุว่า เพื่อให้การดําเนินการบําบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดเป็นไปโดยเหมาะสม สมควรกําหนดให้ผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดฐานเสพยาเสพติดหรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กําหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม ได้รับการบําบัดฟื้นฟูโดยการยินยอม และได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องภายหลังผ่านการบําบัดฟื้นฟู รวมทั้งกําหนดอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดําเนินการดังกล่าว เพื่อให้การบําบัดฟื้นฟูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลสูงสุด คสช.จึงมีประกาศ

ข้อ 1 ในกรณีที่ผู้ใดต้องสงสัยว่ากระทําความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครองตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กําหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตาม คําพิพากษาของศาล และไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หากผู้นั้นยินยอมเข้ารับการบําบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดดําเนินการให้ผู้นั้นเข้ารับ การบําบัดฟื้นฟู ในกรณีที่ผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกําหนดเกี่ยวกับการบําบัดฟื้นฟู และได้รับการประเมินเป็นผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกหนังสือรับรองเพื่อเป็นหลักฐานการนําตัวผู้ต้องสงสัยเข้ารับการบําบัดฟื้นฟู การบําบัดฟื้นฟู และการประเมินเป็นผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกาศกําหนด

ข้อ 2 ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่าผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูนั้นต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุกหรือต้องคําพิพากษาให้จําคุก ให้ส่งตัวผู้นั้นดําเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ข้อ 3 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูในทุกอําเภอและทุกเขต และจัดตั้งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟูในระดับอําเภอหรือ เขต และระดับจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร

ข้อ 4 ให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการคัดกรองและจัดทําข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองเพื่อจําแนกผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟู และการส่งต่อผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูไปยังสถานบําบัดฟื้นฟูหรือสถานที่อื่นตามที่หัวหน้าศูนย์กําหนด ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานครประสานการดําเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 5 ให้ศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟูมีอํานาจหน้าที่จัดระบบ ดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟูในจังหวัดให้มอบหมายกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นําองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน เป็นผู้ติดตามดูแลและช่วยเหลือผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู สําหรับกรุงเทพมหานครให้มอบหมายผู้อํานวยการเขต ผู้นําองค์กรชุมชน อาสาสมัครคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครดําเนินการดังกล่าว

ข้อ 6 เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการบําบัดฟื้นฟู ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล เลขประจําตัวประชาชน และที่อยู่ของผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ต่อสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อใช้ในการดําเนินการจัดส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ดําเนินการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟูต่อไป

แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจับมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ชี้แจงทำความเข้าใจกับตำรวจ “ผู้ปฎิบัติ” หลายครั้ง อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2558 แต่อุปสรรคการทำงานในการจับกุมเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะ “ผู้เสพ” รายย่อย ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

สิ่งที่ “ตำรวจ” ท้องที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญ คือ เหล่าผู้ค้ารายย่อยอาศัยช่องโหว่กฎหมายกระทำผิด โดยจะนำยามาขายทีละ 5 เม็ด หากถูกจับกุมจะถือเป็นผู้เสพ เข้าตามบัญชียาเสพติดท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 ถูกจับไม่เกิน 5 ครั้ง สามารถที่สามารถสมัครใจเข้าบำบัดได้

นอกจากนี้ ศูนย์คัดกรองผู้เสพ ที่มีการกำหนดขึ้นก็ยังไม่มีความพร้อม และส่วนใหญ่จะเปิดปิดตามเวลาราชการ ถ้าตำรวจจับกุมนอกเวลาราชการก็จะไม่รู้จะคุมตัวไปส่งที่ไหน เพราะกฎหมายให้เป็นผู้เสพต้องส่งเข้าศูนย์คัดกรองผู้เสพ ไม่สามารถจับเข้าห้องขัง ไม่ต้องติดคุก
กำลังโหลดความคิดเห็น