รมต.สธ. 10 ประเทศ ประกาศหนุน กม. ซองบุหรี่แบบเรียบ สกัดห้ามใช้เครื่องหมายการค้า โลโก้ ลวดลายสีสัน หวังลดความเย้ายวนในเด็กและและผู้หญิง ไทยจ่อเดินหน้าตาม หากร่าง พ.ร.บ. คุมยาสูบฉบับใหม่ผ่าน
น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้จัดการเครือข่ายนักรณรงค์ไม่สูบบุหรี่อาเซียน กล่าวว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุข 10 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ฮังการี ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สวีเดน อังกฤษ อุรุกวัย และหัวหน้าสำนักเลขาธิการ อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รัฐมนตรีหลายประเทศแสดงความกังวลถึงการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นของเยาวชนและสตรี และเห็นร่วมกันว่า ควรกำหนดให้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งหมายถึง ซองบุหรี่ที่นอกจากมีการพิมพ์คำเตือนแล้ว จะพิมพ์ได้เฉพาะชื่อยี่ห้อบุหรี่ ด้วยอักษรมาตรฐาน ห้ามใช้เครื่องหมายการค้า โลโก้ หรือลวดลายสีสันใด ๆ
“ที่ประชุมได้อภิปรายถึงแนวทางในการลดการสูบบุหรี่ด้วยมาตรการต่าง ๆ รัฐมนตรีหลายประเทศแสดงความกังวลถึงการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นของเยาวชนและสตรี โดยประเด็นหลักที่เป็นปัญหา คือ อิทธิพลของซองบุหรี่ต่อผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ ขณะที่มีหลายประเทศแสดงหลักฐานผลดีที่จะเกิดจากการใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าสามารถลดความเย้ายวนของซองบุหรี่โดยเฉพาะต่อเยาวชนและสตรี เพิ่มประสิทธิภาพของภาพคำเตือนบนซอง และลดอิทธิพลที่ซองบุหรี่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบุหรี่เป็นเรื่องน่าอภิรมย์ ไม่ใช่สินค้าอันตราย” น.ส.บังอร กล่าว
น.ส.บังอร กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่ามีจะร่วมกันผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ออกกฎหมายใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ เพราะเป็นความชอบ ธรรมที่รัฐบาลจะออกกฎหมายนี้เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และจะเสนอให้บรรจุเรื่องนี้ เข้าสู่วาระการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกในปีหน้า โดยขณะนี้ออสเตรเลียมีกฎหมายให้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบมาสามปีแล้ว แม้จะถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องว่าละเมิดเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา แต่สหภาพยุโรปได้ประกาศว่า กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบไม่ขัดต่อกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และประกาศสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปออกกฎหมายนี้ โดยมี อังกฤษ ไอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ที่ออกกฎหมายนี้แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับประเทศไทย ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มาตรา 37 ให้อำนาจออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ ได้ในอนาคต โดยหากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการออกกฎหมายนี้แล้ว ประเทศไทยก็ควรที่จะออกกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่