สสส. โต้สมาคมค้ายาสูบไทยลดคนไทยสูบบุหรี่ไม่ได้ งัดสถิติแจงจำนวนคนสูบบุหรี่ลดลงจาก 32% เหลือ 20% แนวโน้มดีกว่าประเทศอื่นทั่วโลก ย้ำเป็นความร่วมมือของภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จวกพยายามบิดเบือนข้อมูลค้านการออกกฎหมาย
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีสมาคมค้ายาสูบไทยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ โดยอ้างว่าแม้จะมีมาตรการรณรงค์ลดบริโภคยาสูบ สุรา แต่สถิติคนไทยสูบบุหรี่กลับเพิ่มขึ้น ว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลระยะยาวและต่อเนื่อง พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 32 ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 20 และตั้งแต่ สสส. ทำงานรณรงค์อย่างจริงจัง พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในช่วงดังกล่าวลดลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หรือ มีผู้สูบบุหรี่ลดลง 1.21 ล้านคน ส่วนอัตราการบริโภคยังคงเดิม แต่ถือว่าดีกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพบว่าเมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้นยิ่งดื่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเศรษฐกิจดีขึ้นสองเท่าจาก 10 ปีก่อนในขณะที่ยังคงอัตราการดื่มไม่ให้เพิ่มขึ้นได้
นพ.บัณฑิต กล่าวว่า การทำงานด้านลดจำนวนผู้บริโภคสุรา และยาสูบเป็นประเด็นที่ซับซ้อน ไม่ใช่เพียง สสส. และภาคีเท่านั้นที่ทำให้เกิดผลสำเร็จ แต่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญและทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการผลักดันกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อเป้าหมายคือสุขภาพของคนไทยดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่การไปจำกัดธุรกิจหรือ เพียงแต่ในธุรกิจบางประเภทก็ไม่ควรให้สะดวกจนเกินไป เพราะผลกระทบเกิดขึ้นจากคนที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่เพียงกระทบต่อตัวเองเท่านั้น แต่กระทบต่อสังคมด้วย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม ซึ่งไม่ได้สุดโต่ง หรือเกินกว่าหลักสากล ในประเทศต่างๆ ดำเนินการอยู่
“น่าสังเกตว่าตั้งแต่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีความพยายามให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อการดำเนินงานของ สสส. อย่างต่อเนื่อง ขอยืนยันว่า สสส. เป็นองค์กรที่มีรายได้ ตรงจากภาษีสุราและยาสูบ แต่กฎหมายได้ออกแบบกลไกการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกที่เข้มข้นไม่น้อยกว่าระบบราชการ ทั้งจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ผู้ดำเนินโครงการที่ได้รับทุนจาก สสส. ก็มีการกำหนดการยื่นบัญชีรับจ่ายเงิน ประกาศสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งพบว่าธุรกิจยาสูบได้ทุ่มเงินมหาศาลลงสื่อเพื่อต่อต้านในคัดค้าน พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อปกป้องผลกำไรปีละกว่า 3,000 ล้านบาทด้วย” นพ.บัณฑิต กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่