xs
xsm
sm
md
lg

สสส.ยกสถิติ สูบบุหรี่ลด ดื่มเหล้าคงที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง กรณีที่ นางวราภรณ์ นะมาตย์ ผอ.บริหารสมาคมค้ายาสูบไทย ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และระบุว่า ผลการดำเนินงานลดการบริโภคสุรา และยาสูบของ สสส. สวนทางกับสถิติที่เพิ่มขึ้นว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่มีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้มีความพยายามให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อการดำเนินงานของสสส.อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลระยะยาวและต่อเนื่อง พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีผู้สูบบุหรี่ 32 % ปัจจุบันเหลือเพียง 20 % และหากนับจากปีที่ สสส.ตั้งขึ้นถึงปัจจุบัน อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากเดิมถึง 22 % มีผู้สูบบุหรี่ลดลง 1.21 ล้านคน ในขณะที่อัตราการบริโภคสุรา เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 30% ปัจจุบันยังคงเดิม ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังขยายตัว โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบประเทศต่างๆทั่วโลกพบว่า ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศจะสัมพันธ์กับสัดส่วนของผู้ดื่มสุราในประเทศนั้นๆ ประเทศยิ่งรายได้ดี สัดส่วนคนดื่มจะยิ่งมากขึ้น แต่ประเทศไทย คงระดับการดื่มอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปี ทั้งที่เศรษฐกิจเราดีขึ้นถึงเกือบสองเท่า
น.พ.บัณฑิต กล่าวว่า การทำงานด้านลดจำนวนผู้บริโภคสุรา และยาสูบ เป็นประเด็นที่ซับซ้อน และไม่ใช่เพียง สสส. และภาคีเครือข่ายเท่านั้นที่ทำให้เกิดผลสำเร็จ แต่สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญ และทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการผลักดันกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อเป้าหมายคือ สุขภาพของคนไทยดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่การไปจำกัดธุรกิจ หรือ เพียงแต่ในธุรกิจบางประเภทก็ไม่ควรให้สะดวกจนเกินไป เพราะผลกระทบเกิดขึ้นจากคนที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่เพียงกระทบต่อตัวเองเท่านั้น แต่กระทบต่อสังคมด้วย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม ซึ่งไม่ได้สุดโต่ง หรือเกินกว่าหลักสากล ในประเทศต่างๆ ดำเนินการอยู่
" ยืนยันว่าแม้ สสส. เป็นองค์กรที่มีรายได้ตรงจากภาษีสุรา และยาสูบ แต่กฎหมายได้ออกแบบกลไกการตรวจสอบทั้งภายใน และภายนอกที่เข้มข้นไม่น้อยกว่าระบบราชการ อีกทั้งยังได้รับการตรวจสอบจาก สตง., ครม. ,ส.ส. และ ส.ว. ในส่วนผู้ดำเนินโครงการที่ได้รับทุนจาก สสส. ก็ต้องยื่นบัญชีรับจ่ายเงิน (บช.1) ตามประกาศของ ป.ป.ช. ซึ่งสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ก็สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้อยู่แล้ว"
น.พ.บัณทิต กล่าวว่า นอกจากกระบวนการให้ข้อมูลที่บิดเบือนแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวด้วยทุนมหาศาล ทั้งขึ้นบิลบอร์ดขนาดใหญ่ และลงโฆษณาตามสื่อต่างๆ ระบุว่า กฎหมายยาสูบฯ จะส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีก ทั้งที่ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้ายาสูบไทยเอง ระบุว่า ร้านค้าปลีก มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 12.5% ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่อยากฝากให้สังคมช่วยกันจับตามองว่า ผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ รวมถึงแหล่งทุนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือผู้ค้าปลีก หรืออุตสาหกรรมบุหรี่ข้ามชาติ ที่ต้องการปกป้องผลกำไรปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ในประเทศไทยกันแน่

--------
กำลังโหลดความคิดเห็น