คกก.ควบคุมยาสูบฯ ไฟเขียว 6 แผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ปี 2558-2562 เน้นเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบที่มุ่งเป้าในเด็ก ช่วยผู้เสพเลิกสูบ ทำสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ เล็งปรับภาษีเพื่อควบคุม ตั้งเป้าปี 2562 คนไทยสูยบบุหรี่ไม่เกิน 16.7% การรับควันบุหรี่ลดลง 25%
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558-2562 โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่ และเป้าหมายคือ สิ้นปี 2562 ความชุกการเสพยาสูบของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 16.7 และความชุกการได้รับควันบุหรี่ของประชาชนลดลงร้อยละ 25 โดยแผนยุทธศาสตร์มี 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. สร้างเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมยาสูบของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายที่สอดคล้อง ชัดเจนและมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมยาสูบ, ร้อยละ 80 ของจังหวัดมีการบริหารจัดการเกี่ยวกับงานควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ, ทุกจังหวัดมีอำเภอปลอดยาสูบอย่างน้อย 1 อำเภอ และมีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้นในการควบคุมยาสูบจากการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า 2. ป้องกันมิให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก เยาวชนและนักสูบหน้าใหม่ มีเป้าหมาย อาทิ ความชุกของการสูบบุหรี่ในเยาวชนอายุ 15-18 ปีไม่เกินร้อยละ 9, มีระบบเป้าระวังกลยุท์ของธุรกิจยาสูบในสถานศึกษาและกลุ่มเยาวชนและมีการดำเนินการตามกำหมาย และร้อยละ 90 ของเด็ก เยาวชนและประชาชนมีความรู้ ความตระหนักในเรื่องพิษภัยยาสูบ 3. ช่วยผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ โดยต้องทำให้ร้อยละ 50 ของผู้เสพยาสูบต้องการเลิกเสพ, ร้อยละ 30 ของผู้เสพยาสูบที่ต้องการเลิกสามารถเข้าสู่ระบบบำบัดเลิกยาสูบ และร้อยละ 20 ของผู้เสพยาสูบที่เข้าสู่ระบบบำบัดสามารถเลิกเสพได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องใน 1 ปี 4. ควบคุมและเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมีเป้าหมายให้มีแนวทางในการกำหนดและตรวจสอบการเปิดเผยสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ และร้อยละ 80 ประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก เกี่ยวกับสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ
5. ทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ซึ่งร้อยละของประชาชนที่ได้พบเห็นการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในที่สถานที่ห้ามสูบ ลดลงร้อยละ 25 จากปี 2557 เมื่อสิ้นปี 2562 ,ร้อยละการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่พักอาศัย ลดลงร้อยละ 25 จากปี 2557 เมื่อสิ้นปี 2562 และร้อยละ 20 ผู้ที่สูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน และสถานที่สาธารณะ และ 6. ใช้มาตรการภาษีและปราบปรามเพื่อควบคุมยาสูบ โดยมีเป้าหมายให้มีแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายและอัตราที่เกี่ยวกับโครงสร้างภาษีและระบบการบริหารการจัดเก็บภาษีเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีแนวทางการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบทุกประเภทให้มีประสิทธิภาพ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่