xs
xsm
sm
md
lg

ภาครัฐ-เอกชนใต้ออกแถลงการณ์หนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - หลายภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอชน และองค์กรสื่อสารมวลชน ออกแถลงการณ์สนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่จะกำลังเข้าสู่สภา พร้อมเตรียมผนึกกำลังสร้างจังหวัดปลอดบุหรี่ขึ้นในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ หลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกกลุ่มทุนต้านหนักไม่ให้เข้าสภา

วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นพ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ นายกมลฉัตร วงษ์วานิช หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อจังหวัดกระบี่ นายสมัชชา เอ่งฉ้วน นายกสมาคมสื่อสารมวลชนจังหวัดกระบี่ นายสุชีพ พัฒน์ทอง เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดระนอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ได้แถลงข่าวพร้อมออกแถลงการณ์สนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ที่จะกำลังเข้าสู่สภา แต่กำลังถูกขัดขวางจากกลุ่มทุนที่เกี่ยวพันกับบุหรี่อย่างหนัก พร้อมสนับสนุนสร้างจังหวัดปลอดบุหรี่ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้

นพ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากขึ้น เช่น โรคมะเร็งของเกือบทุกระบบของร่างกาย โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชาชนในภาคใต้สูงที่สุดในประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบต่างๆ จึงได้ร่วมกับทางจังหวัดดำเนินโครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ขึ้นเพื่อแก้ไข และลดปัญหาดังกล่าว ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี ระนอง สตูล ตรัง นราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดกระบี่

ด้าน ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ได้กล่าวถึงมาตรการสำคัญในการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพมาตรการหนึ่ง คือการมีกฎหมายควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขมี พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 แต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีการบังคับใช้มากว่า 20 ปี ในขณะที่บริษัทบุหรี่มีการพัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการนำผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้มีผู้เสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และแนวโน้มเพิ่มอัตราการสูบแพร่ระบาดเข้าไปในกลุ่มเยาวชน และสตรีเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อเป็นการปกป้องเยาวชนให้พ้นจากพิษภัยของบุหรี่ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีสาระสำคัญ เช่น ห้ามขายให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายห้าม แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ) ห้ามขายบุหรี่ที่บรรจุซองน้อยกว่า 20 มวน ห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นมวน ห้ามเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ CSR ของบริษัทบุหรี่ในทุกสื่อ และเพิ่มข้อห้ามเรื่องการโฆษณาทางอ้อม เช่น การสื่อสารการตลาดในสื่อต่างๆ รวมถึงการใช้บุคคล (พริตตี้) ซึ่งขณะนี้กลุ่มทุนที่เกี่ยวพันกับบุหรี่พยายามออกมาต่อต้านทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มีการนำ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่สภา

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น