xs
xsm
sm
md
lg

จี้คลอด กม.คุมบุหรี่ฉบับใหม่ สู้การตลาด ลดค่าใช้จ่ายหมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศจย. จี้คลอดร่าง กม. คุมยาสูบฉบับใหม่ หลังกฎหมายเดิมใช้นานกว่า 25 ปีแล้วไม่ได้ผล ไม่ทันบุหรี่และการตลาดรูปแบบใหม่ ย้ำช่วยป้องกันเยาวชนรายใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อปี ลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาโรคจากบุหรี่ปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท ยันไม่กระทบภาษีสรรพสามิตและชาวไร่ปลูกใบยาสูบ

ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ใช้มานาน 25 ปีแล้ว การควบคุมสถานการณ์การสูบบุหรี่เริ่มได้ผลน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะบุหรี่นอกตีตลาดเข้ามามากขึ้น โดยจำนวนผู้สูบยังสูงถึง 11 ล้านคน ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งสร้างภาระโรคและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและเศรษฐกิจกว่า 5.2 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP หากไม่ปรับปรุง พ.ร.บ. จะทำให้โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์การควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พ.ศ. 2557 - 2561 ที่ตั้งเป้าให้การบริโภคยาสูบลดลงไม่ถึง 15% ตามที่ตั้งไว้

“ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะวัยรุ่นยอมรับผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ง่ายขึ้น แต่กฎหมายฉบับเดิมที่กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ ไว้ไม่ชัดเจน เช่น ยาสูบไร้ควัน, ยาสูบผ่านน้ำ และยาสูบผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น” ท.พญ.ศิริวรรณ กล่าวและว่า ดังนั้น พ.ร.บ. ฉบับใหม่ จะเน้นควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ ไม่ให้สร้างการตลาดดึงดูดให้เยาวชนสนใจยาสูบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ การพัฒนารสชาติใหม่ๆ การออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ การลดราคาด้วยการขายแยกซอง และ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม การส่งเสริมการขายที่ร้านค้าปลีก เช่น การโฆษณาที่จุดขาย ห้ามการตลาดด้วยสื่อต่าง รวมทั้งการใช้สื่อบุคคล เช่น พริตตี้ และการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ โดยไม่มีมาตราใดบังคับเกี่ยวกับการปลูกยาสูบหรือการขายใบยาสูบ

ท.พญ.ศิริวรรณ กล่าวว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะส่งผลต่อการลดอุปสงค์ยาสูบของเยาวชนและป้องกันรายใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ซึ่งจะลดความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เฉลี่ย 15,800 ล้านบาทต่อปี และแทบจะไม่กระทบรายได้ภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง ที่ควรจะปรับอัตราตามค่าเงินเฟ้อทุกปี ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีบุหรี่ได้ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นสัดส่วนรายได้ภาษีจากบุหรี่นอกร้อยละ 38 มาจากบุหรี่ภายในประเทศร้อยละ 62

“ส่วนชาวไร่ผู้ปลูกใบยาสูบมีช่องทางการขายใบยาสูบหลายช่องทาง ตั้งแต่การขายให้โรงงานยาสูบมูลค่า 1,600 ล้านบาท และการส่งออกมูลค่า 2,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ประกอบการยาเส้นภายในประเทศ ดังนั้น ชาวไร่จะได้รับผลกระทบจากการลดอุปสงค์ภายในประเทศไม่มาก และมีระยะเวลาในการปรับตัวไปปลูกพืชอื่นๆที่มีผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าร่วมด้วย” ผอ.ศจย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น