xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! นายจ้างจัดตรวจสุขภาพราคาถูก ไม่ตรงโรคจากงาน ขู่ไล่ออก ห้ามลูกจ้างเคลมหากบาดเจ็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยชี้นายจ้างจัดตรวจสุขภาพราคาถูก แถมไม่ตรงกับโรคที่เสี่ยงจากการทำงาน แฉ! มีการขู่ไล่ออกบีบลูกจ้างห้ามเคลมเงินกองทุนทดแทน หากบาดเจ็บจากการทำงาน เหตุต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม ส่งผลการเคลมต่ำกว่า กม. กำหนด ยอดเงินกองทุนพุ่งปรี๊ด 3.3 หมื่นล้านบาท บี้ประกันสังคมแก้ไข
ภาพจาก http://www.thaisafetywork.com/
น.ส.สุธีนุช ตั้งสถิตย์กุลชัย นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้ใช้ดอกเบี้ยเงินฝากของกองทุนประกันสังคม 22% มาตั้งเป็นกองทุนเงินทดแทน เพื่อชดเชยกรณีบาดเจ็บจากการทำงานของผู้ประกันตน แต่จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “การใช้เงินกองทุนเงินทดแทนกรณีบาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพจากการทำงานของสำนักงานประกันสังคม” พบว่า ที่ผ่านมาใช้ไปเพียง 15% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก ทำให้ขณะนี้เงินกองทุนเงินทดแทนมียอดเงินสะสมสูงถึง 33,000 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 20 ปี กองทุนเงินทดแทนจะมียอดสูงถึงแสนล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีการใช้เงินกองทุนทดแทนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดมี 3 ปัจจัย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และตัวระบบ

“ตามระบบแล้วหากหน่วยงานใดมีการเบิกเงินกองทุนทดแทนสูง ในปีต่อไปนายจ้างจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งบางหน่วยงานนายจ้างไม่ต้องการจ่ายเบี้ยเพิ่ม จึงกดดันพนักงานไม่ให้ทำเรื่องเบิกเงินจากกองทุนทดแทน เช่น เลิกจ้างโดยอ้างว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ลูกจ้างจึงไม่ยอมมาเบิกเงินกรณีได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน หรือเบิกน้อยมาก โดยเลือกที่จะจ่ายเงินเองมากกว่า” นักวิจัย กล่าว

น.ส.สุธีนุช กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่น่าห่วงคือเงินกองทุนทดแทนเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านสุขภาพน้อยมาก ทั้งสิทธิในการตรวจรักษา การได้รับยารักษาโรค และการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าให้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสุขภาพประจำปีได้ แต่ไม่ได้กำหนดว่าสามารถตรวจอะไรได้บ้าง นายจ้างจึงจัดแค่เพียงการตรวจโรคขั้นพื้นฐาน หรือโรคที่มีค่าตรวจราคาถูก และไม่ได้ทีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงจากงานที่ทำ เช่น ทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการก่อโรคมะเร็งปอด ก็ไม่มีการจัดตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด แต่ไปตรวจหาโรคอื่นแทน และมีการส่งรายงานผลตรวจสุขภาพให้นายจ้างโดยไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินจากกองทุนทดแทน หลังพบความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดโรคจากการทำงานได้

การเคลมเงินกองทุนไม่เพิ่มแถมมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย สวนทางกับรายงานการเข้ารับการรักษาภาวะบาดเจ็บจากการทำงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกองทุนเงินทดแทนมีเงินเข้าประมาณปีละ 3 พันล้านบาทจากนายจ้าง มีการจ่ายให้ลูกจ้างประมาณปีละ 2 พันล้าน ที่เหลือเข้ากองทุนหมด ซึ่งตอนนี้ยอดรวมสูงมาก ตรงนี้ผู้บริหารควรมีความวิตกกังวลมากกว่าจะดีใจที่เห็นกองทุนเงินทดแทนมีเงินสะสมมาก เพราะว่าเงินนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เรื่องช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างเต็มที่ ทั้งที่เป็นเงินของผู้ประกันตนเอง โดยอาจนำเงินในกองทุนมาใช้ตรวจสุขภาพของลูกจ้างให้ตรงกับความเสี่ยงโรค โดยเฉพาะลูกจ้างที่ลาออกจากงานที่มีความเสี่ยง ก็ต้องตามตรวจสุขภาพลูกจ้างรายนั้นต่อเพื่อเก็บเป็นข้อมูลอาชีพที่ก่อโรค เพราะนายจ้างเก่าจะผลักภาระว่าลาออกไปแล้วไม่เกี่ยวกับตน ขณะที่นายจ้างใหม่ก็บอกว่ามาจากอาชีพเก่า” น.ส.สุธีนุช กล่าว

น.ส.สุธีนุช กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ของประกันสังคมนี้ จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุน ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการหารือไปบ้างแล้ว โดย ดร.อัมมาร ก็เห็นด้วยว่าต้องมีการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและการรักษาของผู้ประกันตน ผู้พิการ คาดว่าจะมีการนำเข้าไปหารือในที่ประชุมครั้งต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น