xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นขาหยั่งส่องช่องคลอดคัดกรอง “มะเร็งปากมดลูก” ช่วยลดอุบัติการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หยุดไม่อยู่มะเร็งคร่าชีวิตคนไทยปีละ 6 หมื่นราย แนวโน้มอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งต่างๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่ ผอ.สถาบันมะเร็งฯ เผย “มะเร็งปากมดลูก” สวนทาง พบอุบัติการณ์ลดลง หลังมีบริการตรวจคัดกรอง

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลกและไทย ซึ่งจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2554 พบว่าปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละประมาณ 60,000 ราย หรือเฉลี่ย 7 รายต่อชั่วโมง และยังคงพบอัตราการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี ปอด ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ส่วนในเพศหญิง คือ มะเร็งเต้านม ปากมดลูก ตับและทางเดินน้ำดี ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง และเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม

นพ.ภาสกร กล่าวว่า การแก้ปัญหาโรคมะเร็งตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ตามนโยบายของ สธ. คือลดอัตราการเกิดและตายจากโรคมะเร็ง พร้อมยกระดับการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่ง ของกรมการแพทย์ จัดประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ได้ทราบถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และวิทยาการต่างๆ ในการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น

ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. สิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส แบคทีเรียและพยาธิบางชนิด 2. พฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ที่พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ การดื่มสุรา รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและไหม้เกรียมเป็นประจำ และ 3. พันธุกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแพทย์สามารถรักษามะเร็งหลายชนิดให้หายได้หากพบในระยะแรก ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลยังพบด้วยว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก ที่พบว่าภายหลังจากมีบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงจากที่เคยพบอัตราการป่วยที่ 24 รายต่อแสนประชากร เหลือเพียง 16.7 รายต่อแสนประชากร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น