รัฐมนตรีช่วย สธ. ลั่นพร้อมหนุนเก็บภาษียาเส้น หากมีคนเสนอ ด้าน สสส.เสนอตัดคำ “ยาสูบพันธุ์พื้นเมือง” ไม่ต้องเสียภาษี ออกจากกฎหมาย ก.คลัง ชี้ช่วยปิดช่องโหว่ยาเส้นพาณิชย์แอบอ้างไม่ต้องเสียภาษี
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้นำสาธารณสุขภูมิภาคอาเซียน เรื่อง ระบบกลไกงบประมาณที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการควบคุมยาสูบ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ในประเทศไทยทั้งหมด ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการสูบยาเส้น ปัญหาคือยังไม่มีการขึ้นภาษียาเส้น ซึ่งหากมีผู้เสนอเรื่องนี้ ตนก็พร้อมนำมาพิจารณา
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. พยายามผลักดันการเก็บภาษียาเส้น ซึ่งทำจากใบยาสูบมาตลอด แต่มักถูกฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นการรังแกคนจน ซึ่งได้พยายามชี้ให้เห็นถึงผลร้ายที่เกิดขึ้น จนเมื่อปี 2555 มีการขึ้นภาษียาเส้น จาก 1 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยาเส้นที่แบ่งบรรจุเป็นซองยังเก็บในอัตราน้อยและควรต้องมีการขึ้นภาษีอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะเก็บเพิ่มเท่าไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ปัญหาคือมักมีการนำกฎหมายของกระทรวงการคลังที่กำหนดว่า ยาสูบพันธุ์พื้นเมืองไม่ต้องเก็บภาษี ไปอ้างแบบเลื่อนลอย เพื่อไม่ต้องเสียภาษี โดยระบุว่าเป็นยาเส้นที่ทำจากยาสูบพันธุ์พื้นเมือง ทั้งที่เป็นการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ ซึ่งการพิสูจน์ความเป็นพื้นเมืองนั้นทำได้ยาก ส่งผลให้การเก็บภาษีจากยาเส้นได้น้อย จึงควรมีการยกเลิกขอกำหนดเรื่องคำว่า ยาสูบพันธุ์พื้นเมืองออกจากกฎหมาย พร้อมกับเพิ่มอัตราการเก็บภาษีและเร่งรัดการเก็บให้ได้จริง ซึ่งกระทรวงการคลังมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาสูบฉบับใหม่ที่จะพิจารณาในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการนำร่างดังกล่าวออกมาบังคับใช้
“ถ้าตัดคำว่ายาสูบพันธุ์พื้นเมืองออกจากข้อกำหนดไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายได้ จะเป็นการอุดช่องโหว่ในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้การผลิตยาสูบในเชิงพาณิชย์ถูกเก็บภาษีโดยไม่สามารถใช้ข้อยกเว้นในเรื่องนี้ได้อีก ส่วนชาวบ้านที่ปลูกจำนวนมาก แล้วนำมาสูบเองก็ไม่มีการเก็บภาษีอยู่แล้ว” ดร.สุปรีดา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า การปรับปรุงอัตราภาษียาสูบในปี 2555 ส่งผลต่อการลดการบริโภคยาสูบลงได้ 6.8% และเพิ่มรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบของรัฐ 6.5% และในการปรับปรุงกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ สนับสนุนกระทรวงการคลังในการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษียาสูบเป็นแบบผสมระหว่างอัตราตามสภาพและอัตราตามมูลค่า หมายถึงฐานราคาหน้าซอง/หรือราคาขายปลีก โดยการขึ้นภาษีจะต้องสะท้อนถึงต้นทุนทางด้านสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ ซึ่งข้อมูลในปี 2552 ชี้ว่ามูลค่าการสูญเสียจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนต่อบุหรี่ 1 ซอง เท่ากับ 29.39 บาทต่อบุหรี่ 1 ซองแล้ว ในระยะสั้นระหว่างรอกฎหมายใหม่ ควรปรับอัตราภาษีบุหรี่ตามสภาพจาก 1 บาทต่อกรัม เป็น 1.5 บาทต่อกรัมไปก่อน จะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มอีก 1,400 ล้านบาท และลดจำนวนคนสูบบุหรี่ราคาถูกลงได้อีก 1.6 แสนคน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่