xs
xsm
sm
md
lg

เสนอปรับภาษีบุหรี่ตามสภาพ ช่วยลดนักสูบวัยโจ๋ 1.6 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

7 ประเทศอาเซียนหารือนโยบายภาษียาสูบ นักวิชาการไทยชี้ปรับอัตราภาษีบุหรี่ตามสภาพก่อน ระหว่างรอกฎหมายใหม่ ลดผู้สูบเยาวชนลงได้ 1.6 แสนคน

วันนี้ (2 ต.ค.) ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจาก 7 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้หารือเกี่ยวกับนโยบายภาษียาสูบที่ยั่งยืน ในการประชุมเชิงปฏิบัติการภาษียาสูบ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 ต.ค. 2557 โดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเครือข่ายนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (SEATCA) และองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 40 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต ทั้งจากประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ดร.ไอด้า ยูเรคลิ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี จากหน่วยเศรษฐศาสตร์ควบคุมยาสูบ WHO กล่าวว่า ปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือกันในการออกแบบนโยบายภาษียาสูบของแต่ละประเทศให้เหมาะสมกับลำดับความสำคัญในด้านสุขภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน โดยในวันที่ 3 ตุลาคม 2557 จะเป็นการประชุมร่วมกันของผู้บริหาร และผู้แทนจากกระทรวงการคลัง จากประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า WHO และสหประชาชาติต่างเห็นพร้องว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น ส่วนหนึ่งรัฐบาลควรมุ่งเน้นการลดการบริโภคยาสูบ และหนึ่งในมาตรการควบคุมคือการเพิ่มภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะส่งผลต่อการลดการบริโภคยาสูบและในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้สำหรับประเทศ โดยส่วนหนึ่งของเงินภาษีที่ได้ สามารถนำมาสนับสนุนกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศ อย่างเช่น ที่ไทยได้จัดตั้งสสส. เพื่อเป็นกลไกการระดมทุนที่ยั่งยืนสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ

ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศจย. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการขยายความสำเร็จของข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง WHO กับ สสส. เมื่อปี 2554 ซึ่งเคยทำให้นักวิชาการกระทรวงการคลังของประเทศไทยมีศักยภาพจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงอัตราภาษียาสูบในปี 2555 ส่งผลให้มาตรการภาษีมีประสิทธิผลในการลดการบริโภคยาสูบ 6.8% และเพิ่มรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบของรัฐ 6.5% ในการปรับปรุงกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ ทาง ศจย. ขอสนับสนุนกระทรวงการคลังในการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษียาสูบเป็นแบบผสมระหว่างอัตราตามสภาพและอัตราตามมูลค่า (ฐานราคาหน้าซอง/หรือราคาขายปลีก)

การขึ้นภาษีจะต้องสะท้อนถึงต้นทุนทางด้านสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ ซึ่งข้อมูลในปี 2552 ชี้ว่ามูลค่าการสูญเสียจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนต่อบุหรี่ 1 ซอง เท่ากับ 29.39 บาทต่อบุหรี่ 1 ซองแล้ว ดังนั้นในระยะสั้นระหว่างรอกฎหมายใหม่ ควรปรับอัตราภาษีบุหรี่ตามสภาพจาก 1 บาทต่อกรัม เป็น 1.5 บาทต่อกรัมไปก่อน ซึ่งจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มอีก 1,400 ล้านบาท และลดจำนวนคนสูบบุหรี่ราคาถูกลงได้อีก 1.6 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน” ผอ.ศจย. กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น