xs
xsm
sm
md
lg

ยงยุทธ หนุนขึ้นภาษียาเส้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ยงยุทธ” หนุนขึ้นภาษียาเส้น ช่วยคุมการสุบบุหรี่ได้ ด้านนักวิชาการชี้ภาพคำเตือนช่วยลดนักสูบได้จริง

ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “วิจัยหนุนนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ” ว่า การควบคุมการสูบบุหรี่เป็นสิ่งสำคัญ ล่าสุด นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็สนับสนุนการขึ้นภาษีบุหรี่และยาเส้น โดยเฉพาะยาเส้น ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน หากดำเนินการได้จะช่วยควบคุมการสูบบุหรี่ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบที่ผ่านมา ชัดเจนว่ามีผลช่วยลดการสูบได้จริง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 23 เป็นร้อยละ 20 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ที่การสูบในเยาวชนสูงขึ้นในช่วงปี 2550 - 2554 เพราะการเปิดเสรีทางการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทำให้มีกลยุทธ์การแข่งขันทางการตลาดมากขึ้น บุหรี่ซองยี่ห้อใหม่ ราคาถูกลง กระตุ้นให้มีผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันนโยบายใหม่ๆ รวมทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ด้วย

รศ.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ นักวิชาการคณะสาธารารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมยาสูบ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะผู้สูบบุหรี่ 1 ใน 2 เสียชีวิตจากการสูบ จึงมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งภาพคำเตือนช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้เลิกสูบบุหรี่ หรือเพิ่มความพยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ โดยผลการวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เมื่อปี 2547 - 2548 พบว่าภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ช่วยให้ความตั้งใจที่จะเลิกสูบของผู้ที่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.6 เป็นร้อยละ 58.2 และกลุ่มที่พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่กลับไปสูบใหม่ ลดลงจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 5.9

ศ.พิมพ์พรรณ ศิลปสุวรรณ นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า จากการดำเนินงานวิจัยเชิงทดลอง ในนักเรียนและนักศึกษา ในสถานศึกษาเขต กทม. อายุระหว่าง 13 - 18 ปี จำนวน 720 คน จำแนกตามกลุ่มสูบ/ไม่สูบจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละกลุ่ม และนักเรียน/นักศึกษาแต่ละคนมีโอกาสถูกสุ่มให้ได้รับปัจจัยทดลองร่วมเท่าๆ กัน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มไม่สูบบุหรี่ มีความมั่นใจในการไม่สูบ/ไม่ใช้บุหรี่ มากกว่ากลุ่มสูบและกลุ่มเคยสูบ ในกลุ่มไม่สูบบุหรี่ การขยายขนาดรูปภาพบนซองบุหรี่เป็นร้อยละ 85 ได้สร้างความมั่นใจในการไม่สูบ/ไม่ใช้บุหรี่ มากกว่าขนาดรูปภาพบนซองบุหรี่ ร้อยละ 55 ซึ่งผลการทดลองนี้สำคัญ ทั้งนี้ สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ในการขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 เพื่อกระตุ้นเตือนความรู้สึกของวัยรุ่นให้เห็นถึงโทษภัยของการสูบบุหรี่มากขึ้น ในกลุ่มไม่สูบบุหรี่ รูปภาพมะเร็งปาก ทำให้เกิดความรู้สึกกลัวอันตรายจากการสูบบุหรี่ มากกว่ารูปภาพเซ็กซ์เสื่อม เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น