xs
xsm
sm
md
lg

ประสาน ตร.ล่าตัวคนขับแท็กซี่ สัมผัสผู้ป่วยเมอร์ส พร้อมต่างชาติ 8 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ประสาน ตร. ล่าตัวคนขับแท็กซี่สัมผัส “ลุงโอมานป่วยเมอร์ส” หลังตามตัวไปถึงสมุทรสาครยังไม่พบ พร้อมตามตัวต่างชาติอีก 8 ราย มาเที่ยวบินเดียวกัน ย้ำ รพ.เอกชน ไล่ผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวนโรคเมอร์ส มีความผิด สูงสุดถึงปิด รพ. ด้าน สบส. เตรียมลงพื้นที่ตรวจ รพ.เอกชน

วันนี้ (23 มิ.ย.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส (วอร์รูม)ว่า ขณะนี้ยืนยันว่าไทยมีผู้ป่วยโรคเมอร์สเพียง 1 ราย คือ ชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี รักษาตัวอยู่ที่ห้องแยกโรคความดันลบ สถาบันบำราศนราดูร อาการทรงตัว แต่ยังไว้ใจไม่ได้ เนื่องจากอายุมาก และมีโรคหัวใจถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ส่วนญาติอีก 3 คน ไม่มีไข้ ไม่มีไอ โดยสถานทูตโอมานได้ส่งอาหารโอมานมาให้รับประทาน แต่ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ในห้องแยกโรค สามารถสื่อสารและใช้อินเทอร์เน็ตได้ โดยจนครบกำหนดเฝ้าระวัง 14 วัน ในวันที่ 2 ก.ค. 2558 และก่อนจะอนุญาตให้กลับบ้านได้จะต้องไม่มีไข้ ไม่มีไอ และต้องมีการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการผลเป็นลบอย่างน้อย 2 ครั้ง จึงจะกลับบ้านได้

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับผู้สัมผัสผู้ป่วยเมอร์ส 163 คน มีการเฝ้าระวังอาการ ทั้งกักตัวเองอยู่ที่บ้าน และ รพ. ขณะนี้พบตัวหมดแล้ว เหลือเพียง 9 คน ที่ต้องติดตามตัวต่อไป แบ่งเป็นผู้โดยสารที่มาเที่ยวบินเดียวกัน เป็นชาวต่างชาติ 8 ราย ยังอยู่ในประเทศไทย ประกอบด้วย ชาวสหราชอาณาจักร (UK) 6 คน อิตาลี 1 คน และ สวิตเซอร์แลนด์ 1 คน ได้ประสานสถานทูตให้ช่วยติดตามตัว อีกรายเป็นคนขับแท็กซี่ ส่วนผู้เข้าข่ายสอบสวนโรคเมอร์สที่มาจากเกาหลีใต้ และ ตะวันออกกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 23 มิ.ย. 2558 มีจำนวน 58 ราย ในรอบ 24 ชั่วโมง มี 5 ราย ทั้งหมดผลตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ รวมถึงกรณีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยในจังหวัดต่างๆ ด้วย

ขอย้ำว่า หากเดินทางกลับจากประเทศที่มีโรคระบาดแล้วมีไข้และไอภายใน 14 วัน อย่าไป รพ. โดยรถสาธารณะ ให้โทร. แจ้ง 1669 หรือ 1422 เพื่อจัดส่งรถพยาบาลที่ได้มาตรฐานไปรับ โดยต่างจังหวัดจะมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รับผิดชอบ พื้นที่ กทม. มีกรมการแพทย์ และ รพ.เอกชนบางแห่ง รับผิดชอบ สำหรับกรณี รพ.เอกชน ปฏิเสธรับผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวนโรคจากประเทศที่มีโรคเมอร์สระบาด อาจทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่หากไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรณีเจอผู้ป่วยโรคเมอร์ส และผู้เข้าข่ายต้องสอบสวนโรคเมอร์ส จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ปรับไม่เกิน 2,000 - 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 หากผิดมาตรฐานมีตั้งแต่ตักเตือน สูงสุดถึงขั้นปิดสถานพยาบาลและไม่ต่อใบอนุญาต” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. ทำความเข้าใจ รพ.เอกชน เรียบร้อยแล้ว ส่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะลงพื้นที่เพื่อตรวจความพร้อมของ รพ.เอกชน อีกครั้ง จากนี้คิดว่าจะไม่เกิดปัญหาอีก รวมถึงได้ส่งหนังสือแจ้ง รพ.เอกชน และ คลินิกทุกแห่งเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและการปฏิบัติ กรณีเจอผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวนโรค หากเป็น รพ.เอกชน ขนาดใหญ่ มีห้องแยกโรคความดันลบก็สามารถรักษาผู้ป่วยเองได้ แต่ รพ.เล็ก หรือ คลินิกให้ประสาน สธ. ขอรถพยาบาลไปรับผู้ป่วย

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคเมอร์ส มี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเมอร์ส โดยเฉพาะญาติ บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษา ซึ่งตามตัวเจอทั้งหมดแล้ว ส่วนแท็กซี่ 1 รายและผู้โดยสารต่างชาติเที่ยวบินเดียวกัน 8 ราย ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตามตัวแล้ว แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะได้ผ่านช่วง 7 วัน ที่มีโอกาสแพร่ระบาดสูงไปแล้ว แต่ก็ยังต้องติดตามตัวให้เจอ ทั้งนี้ แท็กซี่ที่ติดตามตัวไม่พบ คือ รายที่ตอนแรกยังตามไม่พบ แต่ตอนหลังติดตามพบจากกล้องวงจรปิดที่เห็นป้ายทะเบียนรถ จึงระบุไปว่าติดตามพบแล้ว แต่พอตามไปถึง จ.สมุทรสาคร ปรากฏว่าไม่พบตัว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวแล้ว และหากแท็กซี่รายดังกล่าว ทราบจากข่าวขอให้แจ้งมาที่ คร. 1422

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า วันที่ 24 มิ.ย. เตรียมลงพื้นที่ตรวจ รพ.เอกชนในการเตรียมความพร้อมรับมือโรคเมอร์ส หลังมีการหารือกับ รพ.เอกชน โดยหาพบผู้ต้องสงสัย หรือ ผู้ป่วย สามารถประสานกระทรวงสาธารณสุข ผ่านหมายเลข 1669 รับตัวผู้ป่วยดูอาการ อย่างไรก็ตาม เตรียมทำหนังสือถึง รพ.เอกชน ให้ปฏิบัติตามมิเช่นกันอาจได้รับโทษได้ ส่วนกรณีที่รพ.เอกชนปฏิบัติผู้ป่วย 2 รายนั้น ก็เป็นเพียงการตักเตือน และผลการตรวจเชื้อก็ทราบว่าให้ผลเป็นลบจึงไม่อยากรื้อฟื้น

นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดในเกาหลีใต้เริ่มดีขึ้น เมื่อดูจากรายงานเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยกับผู้เสียชีวิต พบว่าความรุนแรงของเชื้อยังอยู่ในเกณฑ์ประเมินเดิม คือ อัตราการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 30 ซึ่งขณะนี้การระบาดที่เกาหลีใต้ ก็ยังไม่พบการระบาดในชุมชน แต่เกิดจากการเข้าไปติดเชื้อในโรงพยาบาล ติดเชื้อจากญาติ จากผู้สัมผัส ซึ่งไทยจึงต้องพยายามควบคุมวงการสัมผัสโรค ผู้สัมผัส 163 คนนี้ จึงต้องมีการติดตามให้ครบระยะเวลา 14 วัน ผู้ที่ยังไม่พบก็ต้องพยายามตามให้พบ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาอยู่ก็ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อต่อ จึงจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น