xs
xsm
sm
md
lg

ถกกองทัพจัดโซนผู้ป่วยเชียงใหม่พบรายที่7ไวรัสเมอร์ส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.หารือ รพ.เอกชนช่วยประสานเอเยนซี นำเข้าผู้ป่วยตะวันออกกลาง เช็กโรคเมอร์สก่อนมารักษาตัวในไทย 1 สัปดาห์ พร้อมถกกองทัพหาพื้นที่สำรองกักตัวผู้สัมผัส "ผู้ป่วยเมอร์ส" เฝ้าระวังอาการ หากพบผู้ป่วยหลายราย ด้านรองปลัด สธ.ขออย่าปฏิเสธผู้ป่วย ให้ซักประวัติ ด้านอาการผู้ป่วยเมอร์สดีขึ้น ขณะที่หญิงวัย 38 ปีชาวบุรีรัมย์ นั่งเครื่องบินติดกับชายชาวโอมานติดเชื้อโรคเมอร์สรายแรกของไทยที่ถูกกักตัวเฝ้าระวังอาการ ผ่านไป 1 สัปดาห์ยังไม่มีไข้หรืออาการผิดปกติ ส่วนที่เชียงใหม่พบผู้ป่วยต้องสงสัยไวรัสเมอร์สรายที่ 7 หลังกลับจากเกาหลีใต้ รอผลตรวจยืนยัน ส่วนในเกาหลีใต้ ไวรัส "เมอร์ส" ทำโสมตายเพิ่ม 2 ติดเชื้ออีก 3

วานนี้ (22 มิ.ย.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่า ขณะนี้ยังคงมีผู้ป่วยโรคเมอร์สในไทยเพียง 1 ราย ส่วนผู้สัมผัสโรคลดลงจาก 176 ราย เหลือ 163 ราย เนื่องจากออกนอกประเทศไปแล้ว 13 ราย สำหรับผู้ป่วยเมอร์สชาวโอมานอายุ 75 ปี อาการดีขึ้น ส่วนจะยืนยันหายป่วยเมื่อไรนั้น ผู้ป่วยต้องไม่มีไข้ ไอ หอบ จากนั้นจึงตรวจหาเชื้อยืนยันอีก 2 ครั้ง หากผลเป็นลบถือว่าผู้ป่วยปลอดเชื้อ ส่วนจะเก็บเชื้อตรวจเมื่อไรอยู่ที่แพทย์ผู้รักษา ขณะที่ญาติอีก 3 คนมีการตรวจเชื้อไปแล้วพบว่าเป็นลบ แต่ตามระบบจะต้องติดตามและเฝ้าระวังไปอีกจนครบ 14 วัน นับตั้งแต่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้ายคือ วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา

"กลุ่มผู้สัมผัสโรคที่ได้มีการติดตามยังไม่มีใครป่วย ทั้งผู้โดยสารบนเครื่องบินที่อยู่สองแถวหน้าและหลังผู้ป่วย บุคลากร รพ.เอกชน คนขับแท็กซี่ ยังไม่พบอาการไข้หรืออาการบ่งชี้เข้าข่าย แต่จะติดตามไปจนครบกำหนดเช่นกัน ส่วนผู้ที่อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรค พบว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงมีการส่งตรวจเชื้อ 9 ราย ซึ่งทั้งหมดให้ผลเป็นลบ สรุปรวมตั้งแต่ต้นปี 2558 มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 53 ราย ทุกรายผลการตรวจเป็นลบ" รองปลัด สธ. กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวว่า จากการที่ผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในไทยอาการดีขึ้น อาจเป็นการดึงผู้ป่วยต่างชาติให้เดินทางมารักษาที่ รพ.เอกชนมากขึ้น จึงจะประสานไปยัง รพ.เอกชนให้เข้มงวดคัดกรองผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องมีจุดคัดกรอง และวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน เพราะกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาในไทยมีจำนวนมาก คิดเป็นการรับบริการถึงปีละ 1.4 ล้านครั้ง จึงต้องมีการหารือร่วมกันว่าจะร่วมกันทำงานอย่างไร ซึ่งจะเน้นขอความร่วมมือเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมการกรณีเกิดผู้ป่วยเมอร์สเพิ่มด้วย เพราะอัตราผู้ป่วยกับเมอร์สกับผู้สัมผัสโรคที่ต้องติดตามอาการอยู่ที่ 1 ต่อ 50 ราย ซึ่งหากมีผู้ป่วยเมอร์สประมาณ 1-2 ราย โรงพยาบาลสังกัด สธ.มีศักยภาพดูแล จึงจะมีการหารือร่วมกับกองทัพ ในการหาพื้นที่สำรองเพื่อการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรค หากเกิดกรณีมีผู้ป่วยเมอร์สหลายราย เพราะเตรียมพร้อมมากดีกว่าน้อย

นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. กล่าวว่า สธ.ได้มีการหารือกับ รพ.เอกชนต่างๆ ว่าต่อไปจะให้ รพ.เอกชนประสานกับเอเยนซี ที่จะมีการนำผู้ป่วยมารักษาโรคต่างๆ ในไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคเมอร์ส ให้ทำการตรวจหาโรคเมอร์สผู้ที่จะมารักษาโรคต่างๆ ในไทยก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนส่งมารักษาในไทย ซึ่งกรณีนี้ รพ.เอกชนก็เห็นด้วย ส่วนผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านเอเยนซี ก็จะให้ รพ.เอกชนสอบถามประวัติ หากมาจากประเทศตะวันออกกลางให้ส่งสารคัดหลั่งตรวจหาเชื้อทุกราย เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่เชื้อ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี รพ.เอกชนบางแห่งปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่มาจากประเทศที่มีการระบาด นพ.วชิระ กล่าวว่า คงต้องตรวจสอบ แต่เชื่อว่าอาจเป็นช่วงแรกๆ ซึ่งขณะนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ประสานขอความร่วมมือกับรพ.เอกชนต่างๆ แล้วว่า หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย ให้โทร.สอบถามได้ที่สายด่วน 1422 หรือหากไม่มีห้องแยกให้แจ้งทาง สธ. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับต่อเพื่อเข้าสู่ระบบการติดตามเฝ้าระวังทันที อย่าให้ผู้ป่วยเดินทางไปด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วย 1,338 ราย เสียชีวิต 475 ราย เฉพาะเกาหลีใต้พบผู้ป่วย 169 ราย เสียชีวิต 25 ราย

รพ.เอกชนปฏิเสธ ผู้ป่วยที่มาจากประเทศระบาด "เมอร์ส"

วันเดียวกัน ที่โรงแรมริชมอนด์ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวในการประชุมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกกว่า 100 แห่ง เกี่ยวกับมาตรการเตรียมพร้อมรับมือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่า อยากให้ทุกโรงพยาบาลปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรคเมอร์สที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด เช่น ซักประวัติการเดินทาง มาจากประเทศที่มีการระบาดหรือไม่ โดยเฉพาะผู้มีอาการไอ ไข้ มีน้ำมูก การติดป้ายประชาสัมพันธ์ว่ากลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงขอให้แจ้งให้แพทย์ทราบ โดยจะติดป้ายหน้าประตูโรงพยาบาลทุกทางเข้าออกอย่างชัดเจน และให้จัดทำหน่วยคัดกรองแบบ One Stop Service เพื่อให้แยกกลุ่มเสี่ยงออกจากผู้ป่วยทั่วไป และให้สื่อสารเกี่ยวกับการติดต่อของโรคเมอร์ส เพื่อให้ประชาชนรับทราบ

"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ รพ.เอกชน 2 แห่ง เมื่อทราบว่าผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และได้เดินทางมารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งนั้น กลับปฏิเสธไม่ให้ผู้ป่วยเข้ารับรักษา และเรียกแท็กซี่ให้มาที่สถาบันบำราศนราดูรแทน ซึ่งลักษณะนี้ทำไม่ได้ถือว่าผิดหลักมาตรฐานของสถานพยาบาลในเรื่องการส่งต่อและปฏิเสธผู้ป่วย โดยมีโทษทั้งจำทั้งปรับ"

ศธ.ย้ำกินร้อน ช้อนกลาง ป้องเมอร์ส

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.โสภณ กล่าวยืนยันว่าขณะนี้ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโรคเมอร์สเพียงรายเดียว และยังไม่มีการระบาดในชุมชน

“ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ สพฐ. จะแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)และโรงเรียน ทั่วประเทศ ถึงแนวปฏิบัติแก่ครูเพื่อให้ถ่ายทอดสู่เด็ก ทั้งกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ การป้องกันตัวเอง หากพบว่ามีนักเรียนที่มีอาการผิดปกติให้รีบกักตัวออกมา และแจ้งสาธารณสุขในพื้นที่ทันที ทั้งนี้ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นและจำเป็นจะเพิ่มมาตรการ เช่น ปิดสถานศึกษาเพื่อทำความสะอาดหรือไม่นั้น ต้องรอฟังการแจ้งเตือนจากทาง สธ. ก่อน"

หญิงบุรีรัมย์นั่งติดชาวโอมานอาการยังปกติ

วานนี้ (22 มิ.ย.) นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมโรคสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้กักตัวหญิงวัย 38 ปี ชาวบ้านโคกหัวเสือ ม.3 ต.ยายแย้มวัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ไว้เฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 14 วัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้โดยสารจำนวน 106 คนที่เดินทางมาในเครื่องบินลำเดียวกันและมีที่นั่งใกล้กับชายวัย 75 ปี ชาวโอมานที่ตรวจพบติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายแรกในไทยนั้น

ล่าสุดจากการกักตัวไว้เฝ้าดูอาการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผ่านไปเป็นเวลา 7 วันแล้วยังไม่พบว่าหญิงคนดังกล่าวมีไข้ ไอ จาม หรืออาการผิดปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องทำการกักตัวเฝ้าระวังอาการต่ออีก 1 สัปดาห์ตามมาตรการควบคุมโรค หากครบ 14 วันแล้วยังไม่พบอาการผิดปกติก็จะอนุญาตให้กลับบ้าน แต่หากมีไข้หรืออาการผิดปกติจะต้องนำตัวเข้าห้องแยกโรคตามขั้นตอนต่อไป ส่วนสมาชิกในครอบครัวยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้วิตกกังวลอะไร

เชียงใหม่พบต้องสงสัยเมอร์สรายที่ 7

ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้มีอาการป่วยเป็นไข้ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 7 รายแล้ว โดยรายสุดท้ายเป็นผู้หญิงวัยรุ่นชาวเชียงใหม่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ มีอาการไข้ อ่อนเพลีย และไปรักษาอาการที่คลินิกแห่งหนึ่งแต่อาการไม่ดีขึ้นจึงมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ทำให้ต้องเข้าสู่ระบบการกักตัวเพื่อสอบสวนโรคตามกระบวนการเพื่อความปลอดภัย

"เมอร์ส" ทำโสมตายเพิ่ม 2 ติดเชื้ออีก 3

เอเอฟพี - เกาหลีใต้รายงานในวันจันทร์ (22 มิ.ย.) พบผู้เสียชีวิตจากไวรัสเมอร์สอีก 2 ราย กับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในแดนโสมขยับไปอยู่ที่ 27 ราย ด้านมาเลเซียเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองในสนามบินและจุดผ่านแดน หลังไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก

กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ ระบุว่า ผู้เสียชีวิตทั้งสองเป็นชายวัย 84 กับ 87 ปี สิ้นชีพเมื่อช่วงคืนวันอาทิตย์ - เช้าวันจันทร์ ด้วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) นอกจากนี้ทั้งคู่ต่างก็เป็นโรคมะเร็งด้วย

ทั้งคู่ได้ติดเชื้อไวรัสที่โรงพยาบาลซัมซุงเมดิคอลเซ็นเตอร์ในกรุงโซล กับโรงพยาบาลแทจอน ที่อยู่ในเมืองแทจอน ทางตะวันตกของประเทศ โดยมีการวินิจฉัยว่าติดเชื้อในวันที่ 9 กับ 12 มิถุนายนตามลำดับ

ทางกระทรวงฯ ยังได้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3 ราย ทำให้ตัวเลขยอดรวมผู้ติดเชื้อขยับไปอยู่ที่ 172 ราย โดยรวมเอาจำนวนผู้เสียชีวิต 27 รายเข้าไปด้วย

3 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นคนไข้จากโรงพยาบาลซัมซุงฯ , ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยกองกุ๊ก ส่วนอีกรายเป็นผู้ดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลแทจอน

รมว.คลังยันเมอร์สไม่กระทบ ศก.

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ยืนยันว่าการพบผู้ป่วยชาวต่างชาติติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายแรกในไทยนั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย เพราะเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการออกมาตรการควบคุมดูแลเป็นอย่างดี ทำให้สถานการณ์แตกต่างกันมากจากช่วงที่เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก ดังนั้นจึงคาดว่าภายในเดือนหน้าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สได้

"ตอนนี้ต่างชาติยังเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นให้มาก เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางป้องกันอยู่แล้ว มีแผนรับมือ 1-2-3 ทุกอย่างยังแน่นหนาดี ส่วนท่องเที่ยวก็ยังดีอยู่" รมว.คลังกล่าวและว่า เร็วๆ นี้จะหารือร่วมกับนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่มีข้อเสนอจะให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 3,000 บาท ซึ่งเบื้องต้นมองว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะช่วงที่จ่ายไร่ละ 1,000 บาท ก็ใช้งบประมาณไปถึง 4.3 หมื่นล้านบาทแล้ว และยังมีพืชเกษตรอื่นๆ ที่รัฐบลต้องดูแลอีกมาก ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องไปหารือในรายละเอียดกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น