สธ. เผยผู้ป่วยเมอร์สรายแรกดีขึ้น หายใจเองได้บ้าง ส่วนญาติๆ อาการเป็นปกติ ไม่มีไข้แล้ว อัปเดตตัวเลขผู้สัมผัสโรคต้องติดตามมี 175 ราย ตามชาวบุรีรัมย์นั่งใกล้ผู้ป่วยเมอร์สรายแรกได้แล้ว เฝ้าดูอาการ 14 วัน พร้อมเรียก รพ.- คลินิกเอกชน วางมาตรการคุมเมอร์ส ชี้ข่าวลือโซเชียลพบผู้ป่วยที่ต่างๆ ไม่จริง ลือหนักซื้อยาอะม็อกซีต้านเมอร์ส หมอจุฬาฯ เตือนอย่าเชื่อเหตุเป็นยาปฏิชีวนะรักษาแบคทีเรีย ไม่ใช่ไวรัส
วันนี้ (20 มิ.ย.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) ว่า อาการของผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกของไทย ซึ่งเป็นชาวตะวันออกกลางถือว่าดีขึ้น รับออกซิเจนน้อยลง เพราะหายใจได้เองดีขึ้น ผลการเอกซเรย์ปอดดีขึ้น รับประทานอาหารอ่อนๆ ได้ ส่วนญาติอีก 3 คน ไม่มีอาการไข้ ไม่มีอาการไอ โดย 2 คน ที่ยืนยันผลตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ ส่วนอีกรายที่ไม่สามารถยืนยันผลได้นั้น เนื่องจากไม่มีอาการไข้ออกมาแล้ว ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกจะไม่มีการตรวจเชื้อแล้วในวันนี้ แต่จะพิจารณาอีกครั้งใน 1 - 2 วัน ว่าจะต้องตรวจเชื้อซ้ำหรือไม่ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในห้องแยกโรคจนครบ 14 วัน
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้มีจำนวน 175 คน ไม่สามารถระบุได้ว่ากลุ่มเสี่ยงสูงเท่าไร กลุ่มเสี่ยงต่ำเท่าไร เพราะมีการปรับเพิ่มหรือลดระหว่างวัน บางคนเคยเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงก็ปรับมาเป็นเสี่ยงน้อย อย่างไรก็ตาม บางส่วนได้เชิญตัวมาอยู่ที่สถานพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการแล้ว ขณะที่บางส่วนให้กักตัวเองอยู่กับบ้าน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค 14 วัน ส่วนชาวบุรีรัมย์ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ป่วยบนสายการบินเดียวกัน และนั่งใกล้กับผู้ป่วยสามารถติดตามตัวได้แล้ว ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งเจ้าตัวให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะนี้อาการเป็นปกติ อยู่ในการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่ที่ยังติดตามไม่ได้ 1 ราย ก็ติดตามได้แล้วเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เช่นเดียวกัน
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า วันที่ 19 มิ.ย. ได้เชิญ รพ.เอกชน 10 แห่ง ที่ชาวตะวันออกกลางนิยมมาใช้บริการ มาหารือเกี่ยวกับระบบเฝ้าระวังและคัดกรองโรค ซึ่งทุก รพ. มีระบบคัดกรองคนไข้ก่อนที่จะเดินทางเข้ามารักษาในไทย โดยมีบริษัทเอเจนซี่ในตะวันออกกลางประสานข้อมูลจากแพทย์ในประเทศนั้นๆ ก่อนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีอาการของโรคมากตามกฎของสายการบินทั่วโลกไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาเองมักจะมีสุขภาพดี ถ้ามาเจ็บป่วยที่ประเทศไทย ทาง รพ. เอกชนก็มีการเตรียมความพร้อมในการคัดกรองและแยกผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงออกจากผู้ป่วยทั่วไปอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มิ.ย. นี้ จะเชิญ รพ.เอกชน และคลินิกเอกชน ประมาณ 100 แห่ง มาหารือเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค แต่ รพ. ส่วนใหญ่ก็มีมาตรการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ และห้องแยกโรคอยู่แล้ว
“กรณีข่าวลือในต่างๆ ว่า พบผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยเมอร์สในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สมุทรปราการ หรือ ชาวต่างชาติที่อุดรธานี หรือจังหวัดอื่นๆ ขอยืนยันว่า ยังไม่มี ไม่อยากให้ประชาชนเชื่อข่าวลือจากโซเชียลมีเดีย ให้รับข้อมูลจาก สธ. โดยตรง ซึ่งหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และขอความกรุณาให้เคารพสิทธิของผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าระบบติดตามด้วย ไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ ไม่ตามไปถ่ายภาพที่บ้านหรือภาพญาติ หรือผู้ป่วยเอง เพราะถือเป็นการทำผิดกฎหมาย”
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า ขณะสายการบินจากประเทศตะวันออกกลาง และประเทศเกาหลีใต้จะเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และ เชียงใหม่ ซึ่ง ผอ.ท่าอากาศยาน จะเปิดช่องทางพิเศษสำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคให้เข้าสู่ระบบคัดกรองก่อนให้เข้าผ่าน ตม. เข้ามาในประเทศ
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า “ให้ทุกคนซื้อยาอะม็อกซี ติดบ้านเอาไว้ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อที่สามารถรักษาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน คนที่ป่วยไข้หวัดรุนแรงกินทันทีจะรักษาได้ แผงหนึ่งมี 20 เม็ด ต้องบอกร้านยาต้องเป็นอะม็อกซีของเมืองนอกเท่านั้น กล่องขาวแดง” ว่า อะม็อกซีซิลิน (Amoxicillin) เป็นยาปฏิชีวนะรักษาเชื้อแบคทีเรีย ใช้ไม่ได้กับไวรัสใดๆ รวมทั้งเมอร์ส ขณะนี้การรักษาเมอร์สทำได้เพียงแค่การประคับประคองตามอาการเท่านั้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบันกระทรวงมีระบบการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้และตะวันออกกลาง โดยได้คัดกรองผู้ที่มีอาการไข้และส่งเชื้อตรวจจำนวน 38 ราย เป็นคนที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ 23 ราย และตะวันออกกลาง 15 ราย ผลการตรวจทุกรายเป็นลบ ไม่ติดเชื้อเมอร์ส แต่อย่างใด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่