xs
xsm
sm
md
lg

ยันร้อยเอ็ดไม่ป่วย “เมอร์ส” แค่ไข้เลือดออก ย้ำมีไข้หลังกลับพื้นที่ระบาด ห้ามไปคลินิก หวั่นแพร่กระจายแบบเกาหลี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ยันสงสัยป่วย “เมอร์ส” ที่ร้อยเอ็ดแค่ “ไข้เลือดออก” เผยต้องสงสัย 35 ราย ตั้งแต่ต้นปีไม่มีรายใดป่วยเมอร์ส ไม่ห่วงกระแสพบผู้ป่วยต้องสงสัย เหตุ รพ. รายงานตามข้อเท็จจริง แต่หวั่นกระแสโซเชียลคุมยาก ย้ำมีไข้ เดินทางกลับมาจากประเทศระบาดให้มา รพ. เท่านั้น ห้ามไปคลินิก

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ รพ.ราชวิถี กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมความพร้อมมาตรการรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส ร่วมกับ รพ. ในสังกัดกรมการแพทย์ เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี เป็นต้น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในระบบการรับมือและป้องกันโรคเมอร์ส

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ได้กำชับให้มีการเฝ้าระวังป้องกันตั้งแต่การเดินทางเข้าประเทศในทุกด่าน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และ เกาหลีใต้ ที่มีการระบาดของโรคเมอร์ส โดยมีการตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ พร้อมทำความเข้าใจนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางเข้ามา หากมีอาการไข้ให้รีบมาโรงพยาบาล และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อให้มั่นใจว่าป่วยด้วยโรคดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ สามารถตรวจวิเคราะห์เชื้อได้ภายใน 8 ชั่วโมง หากสงสัยว่าป่วยด้วยโรคเมอร์ส ก็จะมีการแยกตัวออกมารักษาต่างหาก เพื่อไม่ให้มีการสัมผัสกับบุคคลอื่นในโรงพยาบาล และขอให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน ปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ รพ. ก็มีการเตรียมความพร้อม เพราะมีประสบการณ์ตั้งแต่โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคซาร์ส และ โรคติดเชื้ออีโบลา ซึ่งมีการระบาดที่รุนแรงกว่าโรคเมอร์ส นอกจากนี้ ตนก็ได้ลงนามประกาศให้โรคเมอร์สเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีอำนาจในการกักตัวผู้ต้องสงสัยได้ตามกฎหมาย

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีมีผู้ต้องสงสัยว่าป่วยด้วยโรคเมอร์ส 35 ราย ซึ่งผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติพบว่าเป็นลบทั้งหมด คือ ไม่มีการติดเชื้อ รวมไปถึงรายล่าสุดที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีการส่งข่าวกันทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ว่า มีผู้ต้องสงสัยป่วยโรคเมอร์สจำนวน 3 ราย ก็พบว่า ผลการตรวจเชื้อเป็นโรคไข้เลือดออกทั้งหมด ส่วนกระแสข่าวต่างๆ เรื่องพบผู้ป่วยโรคเมอร์สคงคุมได้ยาก แต่ที่ผ่านมาที่ รพ. มีการให้ข่าวเรื่องพบผู้ต้องสงสัยโรคเมอร์สนั้นก็เพราะมีเคสที่น่าสงสัยเพิ่งเดินทางกลับมาจากเกาหลี และมีอาการ ก็รายงานข้อเท็จจริงออกไปโดยไม่มีการปิดบัง แต่ยืนยันว่าทั้งหมดยังไม่พบผู้ป่วยโรคเมอร์ส

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนเป็นช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ จะแยกอาการอย่างไรกับผู้ป่วยโรคเมอร์ส ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า อาการระหว่างไข้หวัดใหญ่และโรคเมอร์สนั้นแยกยาก เพราะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งการจะแยกว่าป่วยเป็นอะไรนั้น ต้องตรวจวิเคราะห์เชื้อในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ดังนั้น หากมีอาการไข้ ไอ หอบ และมีประวัติการเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด หรือสัมผัสกับผู้ที่เคยเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดขอให้มาพบแพทย์ก่อน และแจ้งประวัติการสัมผัส เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่าป่วยด้วยโรคใดกันแน่ สำหรับผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญฮัจญ์ หรืออุมเราะห์ก็มีการดูแลติดตามอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนไป ระหว่างไป และหลังจากกลับมาถึงประเทศไทย

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กรมการแพทย์ กล่าวว่า พื้นที่ที่ชาวเกาหลีเดินทางมาประเทศไทยนิยมไป คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา ก็คงต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือในการดูแล นอกจากนี้ ที่ต้องกำชับทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี หรือแม้แต่คนไทยที่เดินทางกลับมาจากเกาหลี คือ หากมีอาการป่วยไข้ ขอให้ไปโรงพยาบาล ไม่ไปที่คลินิก เพราะจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยเมอร์สรายแรกของเกาหลีนั้น เดินทางไปยังคลินิกหลายแห่ง จนส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่ว เนื่องจากคลินิกไม่ได้มีแนวทางในการป้องกันเหมือนในโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้คงต้องประสานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการดูแลทำความเข้าใจกับคลินิกด้วย สำหรับอาการป่วยของไข้หวัดใหญ่และเมอร์สจะคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะช่วง 2 - 3 วันแรก คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล แต่ไข้หวัดใหญ่จะมีระยะเวลาในการฟักตัว 1 - 2 วัน แต่เมอร์สจะใช้เวลาประมาณ 10 - 14 วัน แต่เมื่อได้รับเชื้อแล้วอาการจะทรุดลงเร็ว เพราะไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน การรักษาจึงต้องเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น