xs
xsm
sm
md
lg

จับตา "เกาหลีใต้" 4,000 คนร่วมประชุมไทย สกัดโรคเมอร์ส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตาเกาหลีใต้มาประชุมเครื่องมือแพทย์ 4,000 คน เอกชนจัดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ สกัดคนมีไข้ห้ามเข้าร่วม พร้อมเฝ้าระวังให้คำแนะนำ หากป่วยให้พบแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญชี้เกาหลีใต้ระบาดเกือบทั่วประเทศ เหตุไม่ระวังแต่ต้น

วันนี้ (11 มิ.ย.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการประชุมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่า สถานการณ์การป่วยโรคเมอร์ส วันที่ 8 มิ.ย. ป่วยแล้ว 1,218 คน เสียชีวิต 449 คน ซึ่งขณะนี้เกิดความวิตกกังวลเรื่องการระบาดของโรคเมอร์สอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดเกาหลีใต้ เนื่องจากอยู่ใกล้กับไทยและมีการเดินทางไปมาต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การระบาดในเกาหลีใต้แพร่กระจายเกือบทุกจังหวัด แต่ยังจำกัดเฉพาะในโรงพยาบาล โดยตั้งแต่มีการระบาดจนถึงข้อมูลวันที่ 10 มิ.ย. พบผู้ป่วยแล้ว 122 คน เสียชีวิต 9 คน ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีการติดเชื้อ เช่น มาเลเซีย 1 คน และฟิลิปปินส์ 2 คน ไม่พบการระบาด

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย แม้ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีผู้ที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้แล้วไม่สบายใจ สมัครใจขอตรวจเชื้อเองจำนวน 9 ราย แต่ขอยืนยันว่ายังไม่มีการพบเชื้อแต่อย่างใด เพราะผลการตรวจเชื้อพบผลเป็นลบ คือไม่ติดเชื้อ 6 ราย อีก 3 รายยังอยู่ระหว่างผลการตรวจสอบเชื้อ ขณะที่ปี 2555 พบผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดแล้วมีอาการป่วย 5 ราย ปี 2556 พบ 7 ราย ปี 2557 พบ 10 ราย และปี 2558 11 ราย ก็ยังไม่พบว่ามีผู้ใดป่วยด้วยโรคเมอร์ส สำหรับสาเหตุที่การระบาดในเกาหลีใต้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มองว่าไม่ได้ระวังตั้งแต่ต้น คือ 1.ปล่อยให้คนไข้ที่ติดเชื้อนอนกับคนไข้ทั่วไป 2.ระบบอากาศในห้องไม่ดีพอ ทำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ในหอผู้ป่วยในวอร์ดเดียวติดเชื้อไปด้วย และ 3.การควบคุมผู้ป่วยเข้าออกไม่เข้มงวด แต่ขณะนี้มีการเข้มงวดเพิ่มขึ้นแล้ว ดังนั้น หากใครจะเดินทางไปเกาหลีใต้ สามารถเดินทางไปได้ เพราะยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่ต้องระวังอย่าไปอยู่ในแหล่งชุมชน และอย่าเข้าโรงพยาบาล เพราะขณะนี้ระบาดในโรงพยาบาลมาก

“ไทยมีมาตรการเฝ้าระวังและติดตามใกล้ชิด เพราะทุกวันนี้มีคนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ประมาณ 1,000 คน และคนเกาหลีใต้เดินทางมาไทยอีกประมาณวันละ 4,000 คน ซึ่งมีระบบเฝ้าระวังตลอด อย่างวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ที่จะมีการประชุมเครื่องมือแพทย์ในไทย จัดโดยภาคเอกชน ก็จะมีชาวเกาหลีใต้เดินทางมาร่วมประชุม 4,000 คน ซึ่งเราก็เตรียมพร้อม จึงไม่อยากให้กังวล เพราะในเกาหลีใต้ไม่ได้มีการระบาดในชุมชน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. กล่าวว่า วันที่ 10 มิ.ย. ทางเอกชนก็ได้เข้าหารือกับ คร. เพื่อขอคำแนะนำในการจัดประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 12-14 มิ.ย.นี้ซึ่งจะมีผู้ประกอบการจากทั่วโลกประมาณ 20,000 คนเดินทางเข้ามาไทย โดยเป็นชาวเกาหลีใต้ประมาณ 4,000 คน ซึ่งทางบริษัทมีความรับผิดชอบมาก ได้เข้ามาแจ้งและรับคำแนะนำต่างๆ เบื้องต้นจะติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิความร้อนภายในห้องประชุม หากพบบุคคลใดอุณหภูมิร่างกายสูงก็จะขอความร่วมมือไม่ให้เข้าร่วมประชุม และติดตามเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อพบไข้จะป่วยเป็นโรคเมอร์ส แต่เป็นการคัดกรองเบื้องต้น เนื่องจากอาการของโรค จะมีไข้ ไอ และจะมีการตั้งหน่วยแพทย์คัดกรอง รวมถึงแจกแผ่นพับในการป้องกันตัวด้วยว่าเมื่อมีอาการไข้ ควรทำอย่างไร ติดต่อพบแพทย์ได้อย่างไร ซึ่งคงไม่ถึงขั้นต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพราะมีการเฝ้าระวังดี แต่หากมีใครป่วยก็จะไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ

“การเดินทางระหว่างไทยและเกาหลีเป็นเรื่องปกติประจำอยู่แล้ว ซึ่งสนามบินนานาชาติจะมีด่านควบคุมโรค และมีเครื่องเทอร์โมสแกนตรวจวัดความร้อน และมีการคัดกรองเบื้องต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเจอผู้ป่วยทุกราย แต่เป็นการกระตุ้นเตือนให้รู้ว่าหากมีอาการป่วยไข้ควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรและต้องไปพบแพทย์ แต่หากพบมีไข้ก็จะมีการติดตามเฝ้าระวังไปอีก 14 วัน ไม่ได้กักตัว ดังนั้น หากใครเดินทางมาจากเกาหลีใต้ และมีอาการไข้ หรือป่วยภายในระยะเวลากำหนดให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง” นพ.คำนวณ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยไวรัสสัตว์สู่คน และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยมีการสร้างมาตรการเฝ้าระวังโรคเมอร์สในคน และการตรวจเชื้อในค้างคาวอย่างต่อเนื่อง โดยอาการสำคัญที่ต้องระวังคือ ไข้ ไอ โดยพบว่าไวรัสสามารถเกาะที่ไตได้ ทำให้การวินิจฉัยต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจร่วมกับไต นอกจากนี้ ยังสามารถพบอาการท้องเสีย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม ในตะวันออกกลางพบว่าแม้สุขภาพแข็งแรงก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบว่า หากมีอาการน้อยโอกาสในการแพร่เชื้อจะน้อยลงด้วย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จะแพร่เชื้อได้มากจึงต้องมีระบบการแยกผู้ป่วยที่ดี

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จากการติดตามพบว่าคนที่มีสุขภาพดีแข็งแรงอาจไม่เป็นโรคที่รุนแรงแต่เป็นผู้แพร่โรคได้ โดยระยะการฝักตัวของโรคนี้จะใช้เวลาในช่วง 14 วัน ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงพบว่าจะมีระยะเวลาแพร่โรคไปได้อาจนาน 20-30 วัน โดยเชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจ แพร่สู่ผู้อื่นได้เหมือนไข้หวัด คือ สารคัดหลั่ง ด้วยการสัมผัส หรือ รับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันว่าแพร่เชื้อทางอากาศ ทั้งนี้ ช่องทางการติดต่อของโรคถือเป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโรค ติดตามอย่างต่อเนื่อง พบว่าญาติผู้ป่วยรายหนึ่งที่ประเทศเกาหลี เข้าเยี่ยมผู้ป่วยเพียง 5 นาที ก็พบว่าติดเชื้อได้ และรายแรกที่ป่วยยังปฏิเสธว่าได้สัมผัสกับสัตว์ หรือ ผู้ป่วยด้วย ซึ่งการระบาดของเกาหลีในขณะนี้ถือว่าได้ระบาดเกือบทุกจังหวัดเป็นการระบาดระลอกที่ 3 แล้ว

“ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส จับตาโรคเมอร์ส เพราะเป็นพี่น้องกับโรคซาร์ส ในตระกูลโคโรนาไวรัส ที่มีวิวัฒนการสูงมาก สามารถเล็ดลอดการตรวจจับและหลบอยู่ในอวัยวะอื่นนอกจากทางเดินหายใจได้ นักไวรัส จึงติดตามเฝ้าระวังเพื่อดูพัฒนาการ และดักจับไวรัสที่จะพัฒนาจนก่อโรคต่อไปด้วย นอกจากนี้ ยังเสนอที่ประชุมด้วยว่า การตรวจเชื้อด้วยการป้ายเชื้อทีก่ระพุ้งแก้มหากไม่พบในครั้งแรก ขอให้มีการป้ายเชื้อที่จมูก คอ ทวาร และเลือดร่วมด้วย ซึ่งจะยืนยันผลได้มากขึ้น” ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคเมอร์สนั้น ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัด และขอความร่วมมือ รพ.เอกชนทุกแห่ง จัดจุดตรวจรักษาผู้ป่วยนอกที่มีอาการไข้ ไอ คล้ายไข้หวัด แยกออกจากผู้ป่วยนอกอื่นๆ ให้ผู้ป่วยทุกคนใส่หน้ากากอนามัย บริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวเพื่อลดการปะปนกับผู้ป่วยอื่น และซักประวัติการเดินทางจากต่างประเทศทุกราย และขอความร่วมมือคลินิกต่างๆ ส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว และมีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลในสังกัด สธ. และได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดห้องแยกโรคมาตรฐาน ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยโดยเฉพาะ และกำชับบุคลากรการแพทย์ทุกคนทุกระดับ เคร่งครัดมาตรการป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด เพื่อความปลอดภัยทั้งบุคลากรและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล รวมทั้งให้ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยโรงพยาบาลในสังกัด สธ. มีห้องแยกแล้ว 69 แห่ง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น