สธ. ยันพบ “ผู้ป่วยเมอร์ส” รายแรกของไทยแล้ว เป็นชายชาวตะวันออกกลาง เกิดอาการป่วยหลังออกจากสนามบิน เผยตรวจวิเคราะห์เชื้อ 2 รอบ พบให้ผลเป็นบวก ส่งตัวเข้าสถาบันบำราศฯ ในห้องแยกโรค อาการทรงตัว พร้อมติดตามผู้สัมผัสโรค ญาติ ผู้โดยสาร จนท. รพ.เอกชน คนขับแท็กซี่ รวม 59 ราย เฝ้าระวังอาการ ชี้เข้าสุ่ระบบไว ไม่ระบาดหนักแบบเกาหลี ย้ำไม่มีการปิดข่าว
วันนี้ (18 มิ.ย.) เมื่อเวลา 18.00 น. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดและไวรัสวิทยา อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อ รพ.ศิริราช นพ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยไวรัสสัตว์สู่คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมแถลงข่าวกรณีผู้ป่วยชายชาวต่างชาติเข้าข่ายต้องสงสัยป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สธ. ได้รับผู้ป่วยชายชาวตะวันออกกลาง อายุ 75 ปี เข้ามารับการรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร วันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวเดินทางมาจากตะวันออกกลาง ถึงประเทศไทย วันที่ 15 มิ.ย. โดยตั้งใจเข้ามารักษาโรคหัวใจที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งระหว่างเดินทางบนเครื่องบิน ยังไม่มีอาการป่วย แต่มีอาการป่วยหลังออกจากสนามบินมาแล้ว คือ มีอาการเหนื่อย หอบ ไข้ และ ไอ จึงเดินทางไปยัง รพ.เอกชน แห่งดังกล่าวทันที ซึ่ง รพ.เอกชน มีการเตรียมความพร้อมอย่างดี จึงได้นำตัวผู้ป่วยเข้าห้องแยกโรคทันที เพื่อลดการสัมผัสกับบุคคลภายนอก และได้ส่งเสมหะส่งตรวจวิเคราะห์เชื้อ โดยผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการ พบว่า เป็นบวก ซึ่งเป็นการตรวจตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น จึงมีการส่งตัวต่อมายังสถาบันบำราศฯ และรักษาตัวในห้องแยกโรค และตรวจวิเคราะห์เชื้อซ้ำอีกครั้งรอบ 2 ซึ่งผลการตรวจเชื้อก็พบว่าเป้นบวกเช่นกัน จึงวินิจฉัยว่าชายรายดังกล่าวป่วยเป็นโรคเมอร์ส ขณะนี้อาการยังทรงตัว
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะยังมีการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรคอีก 59 ราย โดยเป็นญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาพร้อมกันจำนวน 3 ราย ขณะนี้ได้เข้ามาตรการเฝ้าระวัง โดยให้กักตัวอยู่ที่สถาบันบำราศฯ เพื่อเฝ้าดูอาการเช่นกัน รวมไปถึงติดตามเจ้าหน้าที่ใน รพ.เอกชน ผู้ที่เดินทางมาร่วมกันบนเครื่องบินสองแถวหน้า สองแถวหลังที่ติดกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ในโรงแรม และผู้ขับรถแท็กซี่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งในกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เจ้าหน้าที่ รพ.เอกชน ผู้ที่อยู่เครื่องบินลำเดียวกันสองแถวหน้าและหลัง ก็ขอให้อยู่ในห้องแยกโรคของโรงพยาบาล และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ ซึ่งกลุ่มนี้จะให้เฝ้าระวังอยู่ที่บ้าน 14 วัน โดยขอความร่วมมือให้อยู่แต่ภายในบ้าน ซึ่งจะมีการโทรศัพท์สอบถามอาการทุกวัน และไปตรวจเยี่ยมที่บ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
“ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวถือเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การพบโรคในครั้งนี้ เป็นเพราะการตรวจจับโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีการสัมผัสกับคนจำนวนมาก ซึ่งเคยเกิดเคสแบบเดียวกันนี้ ในประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่มีการตรวจจับโรคได้เร็วเช่นกัน ทำให้มีผู้ป่วยเพียงรายเดียว และสามารถหยุดโรคไม่ให้แพร่กระจายต่อได้ ส่วนผู้ที่จะเดิน” รมว.สธ. กล่าว
นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า ขณะนี้สามารถติดตามผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยได้เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งในวันที่ 19 มิ.ย. จะมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติมเพื่อหาว่ายังมีผู้สัมผัสอีกหรือไม่ ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรค ไม่พบว่า ชายชาวตะวันออกกลาง มีประวัติสัมผัสสัตว์
นพ.ทวี กล่าวว่า การพบผู้ป่วยไม่เกินความคาดหมาย ขอให้มีความมั่นใจ ฝากถึงประชาชน ว่า การเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยง ขอให้กลับมาแล้วแจ้งให้โรงพยาบาลรับทราบทันทีเมื่อป่วยจะช่วยหยุดการระบาดของโรคได้
ศ..เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสามารถพบเชื้อได้ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเตรียมตัวรับมือโรคนี้มานาน รายดังกล่าวมีการติดตามตั้งแต่สนามบินถึงโรงพยาบาล ต่อมาเมื่อถึงโรงพยาบาลก็ให้เข้าห้องแยกโรคทันที และส่งตัวอย่างตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ รามาฯ เมื่อผลออกมา ก็มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญทันที พร้อมกับย้ายผู้ป่วยมาที่สถาบันบำราศฯ รวมทั้งญาติทั้งสามรายเพื่อกักโรค ขอยืนยันว่า ไทยมีความมั่นใจ ที่จะทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายออกสู่ชุมชน ถ้ามีกรณีที่ต้องสงสัย แล้วสามารถตรวจจับได้เร็วก็สามารถคุมโรคได้
“สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์การแพร่ระบาดในวงกว้าง แบบเกาหลีใต้ คงไม่เกิดขึ้น เพราะโรงพยาบาลแรกที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามีมาตรการควบคุมตั้งแต่แรก โดยการนำผู้ป่วยเข้าห้องแยกโรคทันที ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลก็ป้องกันตัวเองทุกคน นอกจากนี้ ในสถานพยาบาลอื่นๆ แพทย์ไทยทุกคนหากพบผู้มีอากรเข้ากับโรคนี้ได้ จะซักถามประวัติ และรายงานให้ระบบการตรวจจับรับทราบทันที” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า คนไทยต้องตระหนัก และรับผิดชอบตัวเองในการป้องกันโรคนี้ด้วย จะรอเพียงการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าคิดว่า เสี่ยง และมีอาการก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ทั้งนี้ การแพร่ของโรค หากมีอาการมาก ไอ จาม มาก อาการบอบช้ำมาก ก็จะแพร่เชื้อไปได้มาก
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. กล่าวว่า ไม่มีการปิดข่าว แต่ต้องรอผลการยืนยันตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ด้วยการทราบตนเอง เมื่อเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงโรค เมื่อเจ็บป่วยต้องแจ้ง และใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เพื่อป้องกันโรค
นพ.วสันต์ กล่าวว่า จากการที่หลายสถาบันทำการตรวจยืนยันเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้ ในหลายช่วงเวลา พบปริมาณไวรัสน้อยมาก จนเมื่อคนไข้เข้ามาอยู่ในระบบควบคุมรักษาของ รพ. จึงพบว่าปริมาณเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับระยะแพร่เชื้อที่จริงจัง เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในการควบคุมที่รพ. อยู่แล้ว ดังนั้น โอกาสที่แพร่ไปติดแท็กซี่จะน้อยมาก ทำให้ทราบว่าการตรวจวินิจฉัยโรคต้องตรวจจากเสมหะ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่