xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีใต้ 4 พันคนมาไทยไม่ป่วย ไม่เข้าข่ายโรคเมอร์ส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยชาวเกาหลีใต้ 4,000 คน ร่วมประชุมในไทย ไม่ป่วย แข็งแรงดี ไม่เข้าข่ายต้องสงสัยโรคเมอร์ส เผยมีระบบคัดกรอง เฝ้าระวัง และแยกตัวเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ

วันนี้ (12 มิ.ย.) พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชาวเกาหลีใต้จำนวน 4,000 คน เดินทางมาร่วมประชุมแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าทางการแพทย์ ที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งจัดโดยบริษัทเอกชน โดยมีการขอคำแนะนำในการจัดงาน เพื่อป้องกันโรคเมอร์ส เนื่องจากขณะนี้ที่เกาหลีใต้มีการแพร่ระบาดของโรคนี้เป็นจำนวนมาก ว่า จากการตรวจคัดกรองเบื้องต้นพบว่า ทั้งหมดมีร่างกายที่แข็งแรงดี ไม่มีรายๆได้เข้าข่ายต้องสงสัยว่าป่วยโรคเมอร์ส และบริษัทเอกชนก็ได้มีการเช่าเครื่องเทอร์โมสแกนไปติดตั้งไว้ในงานด้วย อย่างไรก็ตาม สธ.ยังได้มีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือในการประชุมครั้งต่อๆ ไปด้วยว่าจะต้องดำเนินการเฝ้าระวังอย่างไร โดยใช้การเตรียมการในครั้งนี้เป็นหลัก

ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคเมอร์สนั้น ทุกโรงพยาบาลในสังกัด สธ. มีการเตรียมพร้อมตลอดตั้งแต่โรคซาร์ส ที่ สธ.ได้มีการสั่งการให้โรงพยาบาลทุกระดับของสธ.เตรียมพร้อมรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น การเตรียมบุคลากรหลัก เตรียมบุคลากรสำรองในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งบุคลากรทุกคนต้องได้รับการอบรมหากเกิดกรณีฉุกเฉินและหากพบผู้ป่วยต้องสงสัย แพทย์ที่ทำการตรวจก็จะต้องมีการใส่ชุดป้องกันร่างกาย เช่น ใส่ถุงมือหน้ากาก แว่น รองเท้า เป็นต้น

“หากพบผู้ป่วยที่เข้าข่าย เช่น กลับมาจากประเทศที่พบการระบาดภายใน 14 วัน แล้วมีอาการไข้ ทางโรงพยาบาลก็จะทำการตรวจอย่างละเอียดในห้องแยกโรคเฉพาะซึ่งขณะนี้มีครบทุกจังหวัดแล้ว ส่วนในโรงพยาบาลเอกชนหากไม่มีห้องแยกโรคขณะนี้ในกรุงเทพนั้นโรงพยาบาลเอกชนสามารถส่งต่อมาได้ที่ รพ. ราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตราชธานี สถาบันโรคทรวงอก และสถาบันบำราศนราดูร นอกจากนี้ก็ยังมีรพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ กองทัพ เป็นต้น” พญ.จริยา กล่าวและว่า ส่วนของสถาบันบำราศฯ มีการเตรียมพร้อมตั้งแต่เส้นทางเฉพาะในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีห้องแยกโรคไม่ให้ผู้ต้องสงสัยไปอยู่กับผู้ป่วยทั่วไปอีกด้วย

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจริงๆขณะนี้ทางสถาบันบำราศนราดูร มีห้องแยกรองรับผู้ป่วยได้ 3 คน แต่หากเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีกก็จะมีการปรับแผนเหมือนเหตุการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็จะมีการปรับโซนแยกผู้ป่วย และปรับเปลี่ยนตามแผนที่สธ.ได้ซักซ้อมไว้แล้ว และเบื้องต้นสธ.ได้ทำคู่มือคำแนะนำในการดูแลและสังเกตอาการของโรคเมอร์สไว้แล้วซึ่งคู่มือดังกล่าวมีการจัดพิมพ์เป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และอังกฤษ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น