xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! ไวรัส "เมอร์ส" เรื่องที่คนไทยต้องตื่นตัว (แต่อย่าตื่นตระหนก)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยังคงผวาชวนวิตกอยู่ไม่น้อย สำหรับ ไวรัส โคโรน่า สายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส ไวรัสกลุ่มทางเดินหายใจสายพันธุ์ตะวันออกกลางที่ตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตในเกาหลีใต้ มีรายงานเพิ่มเป็น 16 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 5 ราย ขณะที่ประชาชนอีกกว่า 5,200 คนถูกสั่งให้อยู่ในระยะกักโรค (quarantine) ท่ามกลางความหวาดผวาการแพร่กระจายของเชื้อโรคซึ่งมีทีท่าว่าจะยังคุมไม่อยู่

สำหรับ การแพร่กระจายของไวรัสดังกล่าว มีต้นตอมาจากชายวัย 68 ปีคนหนึ่งที่เพิ่งเดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบีย และแพทย์ได้ยืนยันอาการป่วยของเขาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ก่อนหน้านั้นเขาได้ไปพบแพทย์ในสถานพยาบาล 4 แห่ง ซึ่งระหว่างนั้นเองที่เชื้อได้แพร่กระจายไปสู่เจ้าหน้าที่แพทย์และผู้ป่วยรายอื่นๆ

จากผู้ป่วยรายแรก เชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปสู่รายอื่นๆ อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดีอาระเบีย และเป็นการได้รับเชื้อจากสถานพยาบาลเกือบทั้งสิ้น ส่งผลให้ศูนย์การแพทย์ซัมซุงซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ได้ประกาศระงับบริการเกือบทั้งหมดเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) เพื่อสกัดการแพร่กระจายของไวรัสมรณะ

ส่วนต้นทางของไวรัส "เมอร์ส" ในซาอุดีอาระเบีย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 950 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 412 ราย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันได้  

ลึกลงไปถึงความน่ากลัวของไวรัสตัวนี้ เป็นโรคติดต่อที่แพร่ระบาดถึงกันได้ง่าย หากไอเพียงระยะ 1 เมตรก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ส่วนระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ประมาณ 10-14 วัน แม้จะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่ามีต้นกำเนิดจากคนหรือสัตว์หรือเชื้อใด แต่มีผลวิจัยระบุว่าอาจมีแพะเป็นพาหะนำเชื้อ และเป็นเชื้อไวรัสใกล้เคียงไวรัสในค้างคาวสายพันธุ์หนึ่ง

ทั้งนี้ ไวรัสเมอร์ส เป็นเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกับโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome-SARS) ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน สามารถก่อโรคทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร


ด้านอาการของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ เริ่มตั้งแต่ ไม่มีอาการ อาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือ มีอาการเพียงเล็กน้อย (Asymptomatic or mild case) พบได้ร้อยละ 13.5 เท่านั้น โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการไข้สูง มากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาการไอ และ หอบ หายใจเร็วมากกว่า 28 ครั้ง ต่อนาที Oxygen saturation (SpO2) น้อยกว่าร้อยละ 90


ในรายที่อาการรุนแรง พบว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีลักษณะของกลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันอย่างรุนแรง (Severe Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS) ตามความรุนแรงของภาวะขาดออกซิเจน


จากข้อมูลการวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยโดย Centers for Diseases Control ประเทศสหรัฐอเมริกา ในผู้ป่วย 47 ราย พบอาการไข้ร้อยละ 98 ร่วมกับ อาการ ไอ หอบ ร้อยละ 72 นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยอาการของระบบทางเดินอาหาร พบร้อยละ 26 ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว

ปัจจุบัน มี 24 ประเทศที่พบการแพร่กระจายของ ไวรัส MERS-CoV ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต์ เยเมน เลบานอน อิหร่าน ตุรกี อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ เนเธอร์แลนด์ ออสเตเรีย ตูนิเซีย แอลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้


ทางด้าน "ประเทศไทย" ทางกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ออกประกาศให้โรคเมอร์ส ถือโรคติดต่ออันตรายที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เทียบเท่าโรค อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง ไข้กาฬโรค โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากพบการแพร่ระบาดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ทั้งคนไทยจำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้


อย่างไรก็ดี คนไทยไม่ควรตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่รัดกุมเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาด เริ่มจากเสนอให้เพิ่มอำนาจทางกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดำเนินการได้สะดวกขึ้น สามารถกักตัวผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ละเมิดสิทธิ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้แล้วสมัครใจเข้ารับการตรวจเชื้อทั้ง 11 ราย ผลออกมาแล้วเป็นลบทั้งหมด คือไม่มีผู้ใดเป็นโรคเมอร์ส


มาตรการต่อมาคือ วางแผนดูแลผู้เดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ในปี 2558 คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน ช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยแนะนำให้มาฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น จากนั้นจัดระบบเฝ้าติดตามสุขภาพหลังเดินทางกลับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด หากพบว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการไข้ หรือป่วยภายใน 14 วัน หลังจากกลับจากต่างประเทศจะต้องตรวจพบให้ได้


ส่วนมาตรการที่ 3 คือ การรักษาพยาบาลที่จะเตรียมห้องแยกกันติดเชื้อเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยในโรคนี้ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล เนื่องจากพบบทเรียนมาแล้วจากเกาหลีใต้ที่ไม่สามารถตรวจพบผู้ป่วยติดต่อในโรงพยาบาลได้ทัน สุดท้ายมาตรการทีี่่ 4 คือการสอบสวนควบคุมโรคสำหรับบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดจะต้องได้รับการตรวจสอบ ดำเนินการกักตัวหากติดเชื้อจะได้รักษาได้เร็วที่สุด ไม่ให้แพร่โรคต่อได้


สุดท้ายนี้ แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ควรตื่นตระหนก แต่ก็ต้อง "ตื่นตัว" ในการป้องกันตัวเองในเบื้องต้น คือ กินร้อน- ช้อนกลาง- ล้างมือ, ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดปากเมื่อจาม, หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่ผู้คนแออัด, สวมหน้ากากอนามัยหากต้องไปสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะช่วงพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์, หมั่นออกกำลังกายและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และมาพบแพทย์พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่หากมีประวัติเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของเชื้อ


ขอบคุณภาพ และข้อมูลบางส่วนจากแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท (ศรีราชา)


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น